เตรียมประกวด 'รางวัลอุชเชนี' ในวาระครบ 100 ปีชาตกาล
คอลัมน์... ชานชาลานักเขียน โดย... วรรณฤกษ์
00 สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย เจ้าภาพหลักในโครงการ ประกวดรางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี ประจำปี 2562 (ปีที่ 3) ได้นัดคณะกรรมการรางวัลประชุมกันแล้ว พร้อมวาระการพูดคุยตระเตรียม งาน 100 ปี ชาตกาล ‘อุชเชนี’ (ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา) กวีสตรีคนสำคัญ/ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ แต่เนิ่นๆ คาดว่า จะมีกิจกรรมดีๆ ครั้งใหญ่ ในห้วงวันคล้ายวันเกิด 6 กันยายน 2562 วันครบ 100 ปีพอดี และคงจัดกิจกรรมสม่ำเสมอต่อไปจนถึง 6 กันยายน 2563 หนึ่งปีเต็ม สำหรับการประชุมนัดแรกคึกคักครับ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการอำนวยการ เป็นประธานดำเนินการประชุม ร่วมกับ บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย...
00 ส่วนผู้เข้าร่วมประชุม-ร่วมจัดงานมีหลายฝ่าย ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม บาทหลวงเดชา อาภรณ์รัตน์ เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย พ.ต.ปานสรวง ชุมสาย ณ อยุธยา (ทายาทอุชเชนี), วันทนีย์ นามะสนธิ จาก บมจ.ซีพี ออลล์, สองศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ชมัยภร แสงกระจ่าง ตลอดจนนักเขียน/กวี ชื่อดัง จิระนันท์ พิตรปรีชา, ชุติมา เสวิกุล, นรีภพ สวัสดิรักษ์, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ รวมทั้ง ณรงค์ฤทธิ์ ยงจินดารัตน์ เจ้าของนามปากกา ‘ปะการัง’ กรรมการและผู้ประสานงานแข็งขันของทั้งสองงานในโครงการสำคัญดังกล่าว...
00ถึงบรรทัดนี้เพียงอยากบอก ความคืบหน้า ของการประกวด รางวัลอุชเชนี ครั้งที่ 3 สักเล็กน้อยก่อน ด้วยแว่วข่าวมาว่าเขาเตรียมจัดประกวดในหัวข้อ “ที่ใดมีชีวิต ที่นั่นมีความหวัง” เป็นหัวข้อกว้างๆ เปิดปลายให้ผู้เขียน มีอิสระในการคิด-การเขียน พอสมควร และได้รับคำยืนยันจาก ‘วงใน’ แล้วว่า จะประกาศรับผลงาน ทั้งประเภท บทกวี และ ความเรียง (เหมือนปีก่อนๆ) ตั้งแต่ 23 พฤกษภาคม เป็นต้นไป ดังนั้นเมื่อมีเวที บรรดานักเขียน-กวี ก็ย่อม “มีความหวัง” มีช่องทางที่จะ ‘ปล่อยของ’ เพิ่มขึ้น! (อิอิ) โปรดเตรียมตัวและติดตามรายละเอียดนะครับ...
00 ท่ามกลางโลกออนไลน์ยังมี หนังสือกระดาษ ในรูปแบบ ‘วารสาร’ เกิดใหม่ซึ่งน่าสนใจมาก ชื่อ “บางกอกวรรณกรรม” (The Bangkok Literary Review) เนื้อหาภายในเล่ม เน้นวรรณกรรมไทย แต่...แปลเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ โดยมี เจมส์ ฮัททัน (James Hatton) เป็นบรรณาธิการ ถามว่า เจมส์เป็นใคร? เขาคือ นักเขียนชาวลอนดอน ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย หลงใหลสุนทรียภาพของความเป็นไทย และ รู้สึกเอ่อท้นเมื่อได้อ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยได้สร้าง ‘มิติใหม่’ ของการรับรู้และเข้าใจ กำซาบวาบไหวจนกลั่นกลายเป็นรสนิยมใหม่ในการอ่าน...
00“งานแปลวรรณกรรมไทยที่มีอยู่ก็น้อยนิด จนไม่อาจสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้อ่านและผู้หลงใหลในวรรณกรรมและวัฒนธรรมไทย” ว่าแล้ว เจมส์ ฮัททัน จึงจับมือกับ เอญ่า-ปริยาภา อมรวณิชสาร บรรณาธิการร่วม ซึ่งเป็นนักวัฒนธรรมรุ่นใหม่ไฟแรงแห่ง สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม ลงมือปลุกปั้นทำฝันให้เป็นจริงด้วยการก่อตั้ง “บางกอกวรรณกรรม” พื้นที่ที่พวกเขาหวังจะให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ของ นักเขียน นักแปล ศิลปิน นักอ่าน และ พยายามผลักดันวรรณกรรมไทยให้เข้าสู่หัวใจของนักอ่านทั่วโลก ก็ต้องลุ้นอย่างมีความหวังล่ะครับ...
00สำหรับเนื้อหาในวารสาร ‘บางกอกวรรณกรรม’ เล่ม 1 (ฉบับมกราคม-มิถุนายน 2562) เพียบ ด้วยงานเขียนชั้นนำ งานแปลชั้นยอด งานศิลปะชั้นเยี่ยม รวมถึง เรื่องสั้น และ บทกวี จากกวี-นักเขียนชั้นดี อาทิ สองเรื่องสั้นของนักเขียนซีไรต์อายุน้อยที่สุด จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท บทกวีใหม่ของกวีไรต์ ซะการีย์ยา อมตยา เรื่องสั้นใหม่ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นอกจากนี้ยังมีผลงานของ จิระนันท์ พิตรปรีชา, ปราบดา หยุ่น, จิรภัทร อังศุมาลี, จเด็จ กำจรเดช, ภาณุ ตรัยเวช, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ฯลฯ ผ่านการแปลอย่างประณีต โดยนักแปลหลากรุ่น ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ฯลฯ...
00 ผู้สนับสนุนหลักคือ เอริค บูธ จากบริษัท จิม ทอมป์สัน (อุตสาหกรรมไหมไทย) จำกัด และคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจาก แสงทิวา นราพิชญ์ แห่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ดร.อรองค์ ชาคร จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รวมทั้ง อนุรักษ์ กิจไพบูลย์ทวี นักแปลชื่อดัง/ผู้แทนสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ‘บางกอกวรรณกรรม’ เป็นวารสารราย 6 เดือน ตอนนี้มีจาหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ Open House ชั้น 6 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ราคาเล่มละ 245 บาท หรือสั่งซื้อได้ทั้ง แบบเล่ม และ E-book ที่ www.bkklit.comและ www.facebook.com/BKKLIT...
00สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอเชิญชมนิทรรศการและฟังเสวนา “เมื่อดอกไม้บาน...ในสวนขวัญวรรณศิลป์” ณ หอสมุดป๋วย ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต 24 เมษายนนี้ เวลา 13.00-16.30 น. มีรายการแสดงและเสวนาหลากหลาย นำโดยยอดกวีวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, พยงค์ คชาลัย, นิภา บางยี่ขัน, วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, ดร.อภิชาติ ดำดี, รศ.ดร.สุปาณี พัดทอง และศิษย์ปัจจุบัน กันตวัฒน์ ก้องวิญญู ฯลฯ นอกจากนี้มีหนังสือรวมบทกวี “รังสรรค์ไว้ในสวนศิลป์” (สุปาณี พัดทอง : บรรณาธิการ) มอบให้ผู้เข้าร่วมงาน พร้อมหนังสือเล่มพิเศษจากสำนักพิมพ์ ออนอาร์ต อีก 1 เล่ม! ผู้สนใจแจ้งความจำนงทางกล่องข้อความเฟซบุ๊ก Supanee Patthong ได้เลยครับ ฟรี!...
00ด้าน สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดย อ.เจษฎา ศรีวัฒนเมธากุล เชิญชวนนักเรียนระดับ ชั้น ม.ปลาย ในเขต กทม. และ นนทบุรี เข้าร่วมโครงการ อบรมการอ่านออกเสียงและการประกวดอ่านสดับเสียง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ชิงโล่รางวัล และ ทุนการศึกษา โดยส่งแบบตอบรับ ภายใน 27 พฤษภาคมนี้ รับจำนวนจำกัด เพียง 40 คน (ส่งได้โรงเรียนละไม่เกิน 2 คน) กิจกรรมจะมีขึ้นวันที่ 12 มิถุนายน ณ อาคารสัมมนา 2 ม.สุโขทัยธรรมธิราช อ.ปากเกร็ด นนทบุรี คลิกดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ก Jessada Sriwattanametakul...
00ขณะที่ทำร้านอาหาร “ครัวนักเขียน” ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา (ละแวกแยกหนองเต่า เมืองสุรินทร์) อีกด้านหนึ่ง ไชยา วรรณศรี ก็จัดค่ายส่งเสริมการอ่านเขียนแก่เยาวชนเป็นประจำ ที่สำคัญคือทำโครงการใหญ่-ประกวดวรรณกรรม รางวัลเปลื้อง วรรณศรี ทุกปี! และปีนี้ เข้าสู่ปีที่ 5 กำลังจะเริ่มขึ้นอีกแล้ว จึงไม่ค่อยมีเวลานั่งทำงานเขียนใหม่ๆ ดังนั้น ไชยา วรรณศรี จึงตัดสินใจควักกระเป๋า พิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 นวนิยาย “การกลับบ้านเกิดบนถนนสายโกตาบารู” หนึ่งในหนังสือดีของเขาขัดตาทัพพลางๆ ก่อน ตอนนี้เผยโฉมแล้วรูปเล่มสวยงาม เอ้า..ส่งเสริมวรรณกรรมไทย ด้วยวรรณกรรมดีๆ เล่มนี้ไม่ผิดหวังครับ ‘อยากอ่าน-อยากอุดหนุน’ สั่งซื้อโดยตรงจากนักเขียนที่เฟซบุ๊ก ไชยา วรรณศรี สุรินทร์ ได้เลย...
พบกันใหม่เสาร์-อาทิตย์หน้า สวัสดีครับ