ไลฟ์สไตล์

ยินดีกับนักเขียน 'รางวัลบทละครโทรทัศน์ดีเด่น' ก.วัฒนธรรม

ยินดีกับนักเขียน 'รางวัลบทละครโทรทัศน์ดีเด่น' ก.วัฒนธรรม

29 มิ.ย. 2562

คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย...  วรรณฤกษ์

 

 

          00 ขอแสดงความยินดีกับ ‘นักเขียน’ ผู้ได้รับ ‘รางวัลบทละครโทรทัศน์ดีเด่น’ ภายใต้โครงการ ประกวดบทภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์ ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว โดย กระทรวงวัฒนธรรม นักเขียนที่คว้ารางวัล “การเขียนบทละครโทรทัศน์ดีเด่น” มีจำนวน 10 คน 10 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง ดังนี้...

 

 

          00 ลำดับที่ 1.กระยาทิพย์ ของ อุมาพร ภูชฎาภิรมย์ 2.กลิ่นมาลา ของ ศุภสุตา ลลิตาธิติ 3.คุณพี่เจ้าขา...ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ ของ วิทิยา จันทร์พันธ์ 4.ตราบธุลีดิน ของ ปฏิญญา ปุญญ์ศรัทธา 5.เพลงแผ่นดิน ของ อาทิตย์ ดุรนัยธร 6.มนต์รักหนองผักกะแยง ของ ชุติมณฑ์ ชินมตร เรเชล 7.ยิหวาดาตัง ของ มาธ์ณัชศวีร์ ลิมาภรณ์วณิชย์ 8.ลมพ่ายรัก ของ ธนันดา สินภักดี 9.ศพรำสวด (Fairy Funeral) ของ วลัยลักษณ์ สมจินดา 10.Proud of You ของ มนต์ทิพย์ ลินน์ อัสโสรัตน์กุล...


          00 ในจำนวนนี้มีหลายคน เป็นนักเขียน (และนักแปล) ที่มี ‘ผลงานรวมเล่ม’ มาแล้ว บางรายมีหลายเล่มโดดเด่น อย่างเช่น วิทิยา จันทร์พันธ์ เป็นต้น หรืออย่าง "น้ำหวาน" วลัยลักษณ์ สมจินดา (แบ่งปัณณ์ หอมจันทร์) คือคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถรอบด้าน รู้จักกันสมัยเธอเรียนชั้นมัธยม ตอนเข้าอบรม ค่ายกล้าวรรณกรรม รวมทั้งค่ายการเขียนอื่นๆ และต่อมา “น้ำหวาน” กลายเป็น ‘นักเขียนประจำสกุลไทย’ ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ถือเป็นนักเขียน อายุน้อยที่สุด ของนิตยสารระดับตำนานเล่มนี้ในขณะนั้น ด้าน มาธ์ณัชศวีร์ ลิมาภรณ์วณิชย์ ก็เคยมีผลงานรวมเล่ม และเคยคว้า รางวัลเวทีประกวดเรื่องสั้น อีกด้วย ได้เห็นความมุ่งมั่น-ความสมารถ ‘บนถนนนักเขียน’ ของเธอเช่นกัน ขอชื่นชมยินดี นักเขียนสาวทั้งสองตลอดจนผู้ได้รับรางวัลทุกคนอีกครั้งครับ...




          00 มาแล้ว! โครงการประกวดสื่อสันติภาพระดับชาติ ‘รางวัลช่อมะกอก’ ปีที่ 5 ประจำปี 2562 (5th Olive Branch Awards 2019) โดย สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.หาดใหญ่) ที่มี ผศ.อภิชาติ จันทร์แดง อาจารย์แห่งสถาบันสันติศึกษา หรือ ‘กวี’ ผู้คว้า รางวัลชนะเลิศ ‘พานแว่นฟ้า’ ปี 2553 และเจ้าของผลงานคุณภาพหลายเล่ม เป็นโต้โผใหญ่ ปีนี้จัดประกวดในหัวข้อ “นวัตกรรมสันติภาพ” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน ระดับมัธยม-อุดมศึกษา ได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา แสดงทัศนะ นำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง การอยู่ร่วมกัน สันติวิธี และ การสร้างสันติภาพ ฯลฯ ผ่านการเขียน บทกวี การกล่าว สุนทรพจน์, หนังสั้น และ ภาพถ่าย เงินรางวัล รวม 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร...


          00 กล่าวเฉพาะ ประเภทบทกวี กติกาคร่าวๆ คือส่งประกวดได้ไม่จำกัดจำนวนผลงาน แนวเนื้อหา ก็เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวข้างต้น ตั้งชื่อเรื่องให้ชัดเจนตามอิสระของผู้เขียน ถ้าเขียนเป็น บทกวีฉันทลักษณ์ ความยาวไม่เกิน 10 บท หากถนัด บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ (กลอนเล่า) ตัวพิมพ์ต้องขนาด 16 พอยต์ ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 เป็นผลงานที่ไม่เคยได้รับรางวัลอื่นมาก่อน คณะกรรมการตัดสิน (ทุกประเภทการประกวด) ประกอบด้วย ผศ.อภิชาติ จันทร์แดง (ประธาน) อ.จรูญ หยูทอง (’รูญ ระโนด), ผศ.ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ, ปรเมศวร์ กาแก้ว, อ.วนิดา เต๊ะหลง และ วิโรจน์ รัตนะ (เลขานุการ) ส่งผลงานได้ตั้งแต่ วันนี้-31 กรกฎาคม ประกาศผล/มอบรางวัล 19 สิงหาคม 2562 คลิกดูรายละเอียดที่เพจเฟซบุ๊ก โครงการประกวดสื่อสันติภาพระดับชาติ รางวัลช่อมะกอก ได้เลยครับ...


          00 สำหรับ เวทีประกวดรางวัลวรรณกรรมอื่นๆ เวทีใหญ่ๆ และน่าสนใจ ที่เปิดรับผลงานอยู่ขณะนี้ เท่าที่นึกได้ก็มีโครงการประกวดวรรณกรรม รางวัลเปลื้อง วรรณศรี (ครั้งที่ 5) ประจำปี 2562 โดย สโมสรวรรณศิลป์สุรินทร์ และเครือข่าย เปิดรับทั้ง ‘บทกวี’ และ ‘เรื่องสั้น’ หมดเขต 16 สิงหาคม ถัดมา รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี (ครั้งที่ 3) ประจำปี 2562 โดย สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ร่วมกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดประกวด บทกวี (กลอนสุภาพ) กับ ความเรียง : หมดเขต 31 สิงหาคม 2562 และเวทีประกวด รางวัลบทวิจารณ์วรรณกรรมดีเด่น โดย กองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ : หมดเขต 31 ตุลาคม 2562 เป็นต้น...


          00 ถึงบรรทัดนี้อาจมี พี่น้องนักเขียน-กวี ตั้งคำถามในใจ “อ้าว! แล้วรางวัลซีไรต์ล่ะ” ก็ต้องตอบว่า “ไม่ทราบ” คือ ไม่ทราบจริงๆ ไม่ได้เล่นลิ้นใดๆ ทุกวันนี้มีมิตรน้ำหมึกถามเข้ามามาก แต่ไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะตามข้อมูลเชิงประจักษ์ ใครที่สนใจก็เห็นอยู่ว่าในเพจเฟซบุ๊ก สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ยังลงข่าว ประกาศเชิญชวน ให้ส่งผลงานวรรณกรรมประเภทกวีนิพนธ์ เข้าประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2562 ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม แต่ขณะเดียวกันในเว็บไซต์-ในเพจ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ก็ลงข่าวอีกอย่าง ทั้งที่สองสมาคมเป็นเจ้าภาพร่วม...


          00 สมาคมนักเขียนฯ ประกาศไว้ประมาณนี้ครับ...ได้ประชุมหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย อย่างเป็นทางการ คือฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในที่ประชุม ได้พูดถึงปัญหาต่างๆ ของการประกวด รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ที่ผ่านมา และที่คิดว่า จะเกิดขึ้นอีกในการประกวดปี 2562 พร้อมแนวทางแก้ไข จึงสรุปร่วมกันว่า ให้มีการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) เพื่อแก้ปัญหารางวัลของ 3 ปีที่ผ่านมาก่อน จึงจะดำเนินการจัดประกวดครั้งต่อไป...


          00 เพจของ สองสมาคม ยังลงแช่ไว้อย่างนั้น (เช็กล่าสุดเช้า 27 มิถุนายน) ถ้าดูตามถ้อยความจะเห็นชัดว่า เจ้าภาพร่วมสองสมาคมยังไปกันคนละทาง เราในฐานะผู้ติดตามข่าวจึงมิอาจ ‘ฟันธง’ ไปทางหนึ่งทางใดได้ ปัญหา 3 ปีย้อนหลังที่ต้องแก้ในที่นี้ คือผู้ได้ชื่อว่า ‘นักเขียน-กวีซีไรต์’ สามคน จนถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับรางวัล พลัง เพียงพิรุฬห์ (กวีนิพนธ์ ปี 2559) จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท (รวมเรื่องสั้น ปี 2560) และ วีรพร นิติประภา (นวนิยาย-รอบสอง-ปี 2561) นี่ยังไม่นับเพื่อนนักเขียน-กวี อีก 9 ประเทศกลุ่มอาเซียน บอกกล่าวมา ด้วยรักและผูกพัน สมาคมทั้งสองครับ...


          00 เอ้าส่งท้ายเรื่อง ‘สันติภาพ’ อีกสักรายการ แต่เป็นงาน WASATIYYAH Peace Talk ตอน “โปรดอยู่ในความสงบ” จัดโดย สถาบันวะสะฏียะห์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี วันเสาร์ 6 กรกฎาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคาร POB2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก พบกับ "ไอติม" พริษฐ์ วัชรสินธุ, ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน, อ.นุรซาฮิดาห์ อุเซ็ง, อาลี อารีฟ รวมทั้งนักสื่อสารมวลชนชื่อดัง "แยม" ฐปณีย์ เอียดศรีไชย และกวีสาวคนเก่ง โรสนี นูรฟารีดา งานนี้มีค่าลงทะเบียน 250 บาท นักศึกษา 200 บาท ผู้สนใจคลิกดูรายละเอียดได้ที่เพจ สำนักจุฬาราชมนตรี เขารับจำนวนจำกัด...


          พบกันใหม่เสาร์-อาทิตย์หน้า สวัสดีครับ