‘ไฮโดรโพนิกส์’แนวใหม่"ลดต้นทุน ทุ่นค่าใช้จ่าย
โดย - โต๊ะข่าวเกษตร
คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานฝึกอบรมการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินรุ่นพิเศษ เรื่อง การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแนวใหม่ที่มีการใช้น้ำและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ณ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. และโรงเรือนทดลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ โดยการอบรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบปลูกพืชอย่างแม่นยำในโรงเรือนเพื่อปลูกผักและพรรณไม้น้ำที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย” ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายเกษตร สกว.
ปัจจุบันการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไฮโดรโพนิกส์” เป็นระบบการปลูกพืชประเภทหนึ่ง ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งการปลูกเป็นการค้าในรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีระบบโรงเรือนปิดที่ทันสมัย การปลูกเป็นฟาร์มขนาดกลางในโรงเรือนเปิดหรือกลางแจ้ง จนถึงการปลูกเพื่อการอุปโภคในครัวเรือน
รศ.ดร.พรหมมาศ คูหากาญจน์ นักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. หัวหน้าโครงการวิจัย เผยถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ระบบการปลูกพืชชนิดนี้มีการขยายตัวอย่างกว้างขวางว่า มีสาเหตุมาจาก 2 ภาคส่วนคือ 1.ผู้บริโภค พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันคำนึงสุขภาพเป็นสำคัญ จึงเลือกบริโภคผักที่มีราคาสูงกว่าแต่มีความปลอดภัยมากขึ้น 2.ผู้ผลิต ผู้ผลิตในปัจจุบันไม่อยากตกอยู่ในความเสี่ยง ที่การผลิต ที่ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และเปิดใจรับเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ที่เป็นการทำเกษตรแบบแม่นยำมากขึ้น เพราะใช้ปัจจัยผลิตคุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดย วิธีการปลูกพืช แบบไฮโดรโพนิกส์ มีหลายแบบแต่ หัวใจสำคัญของการปลูกพืชวิธีนี้ คือ “สารละลายธาตุอาหาร” ซึ่งจะมีการคำนวณองค์ประกอบของแร่ธาตุในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของพืช
ด้าน รศ.ดร.อิทธิสุนทร นันทกิจ นักวิจัยจากชุดโครงการนี้ กล่าวว่า คณะนักวิจัย ได้ทดลองปลูกพืชที่โรงเรือนทดลองใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยวิธี 4 ระบบปลูก คือ 1) ปลูกผักสลัดในระบบ NFT หรือปล่อยให้สารละลายธาตุอาหารไหลไปในรางปลูกที่มีความลึก 0.5 ซม. 2) ปลูกผักไทยระบบ DRFT (ระบบที่มีการทำงานเช่นเดียวกับระบบ NFT แต่ระดับน้ำที่ไหลผ่านรากพืชนั้นลึกมากกว่าระบบ NFT คือ มีความลึกอยู่ที่ 1-10 ซม.) ในที่นี้ทดลองปลูกคะน้า 3) ปลูกเมล่อนในวัสดุปลูก และ 4) ปลูกแปลงข้าวโพดในดิน โดยในแปลงทดลองนี้ มีการส่งต่อสารละลายธาตุอาหารจากแปลงผักสลัด ไปยังผักคะน้า และมีการส่งต่อไปยังแปลงเมลอนและข้าวโพด นับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้น้ำและปุ๋ยเพิ่มขึ้น โดยการนำสารละลายธาตุอาหารที่ใช้แล้วในแต่ละระบบกลับมาใช้ซ้ำในระบบปลูกถัดไปจนกระทั่งถึงระบบปลูกสุดท้ายที่เป็นแปลงปลูกพืชในดิน
ทั้งนี้ ตามปกติแล้วในระบบปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแต่ละระบบ จะมีการหมุนเวียนนำสารละลายกลับไปใช้ใหม่ให้แก่ต้นพืช ซึ่งเป็นการใช้น้ำและปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการปลูกพืชในดินอยู่แล้ว ดังนั้นสารละลายธาตุอาหารจึงถูกนำไปให้แก่ต้นพืช โดยแต่ละขั้นตอนของการนำกลับไปใช้ ต้องมีกระบวนการจัดสารละลายธาตุอาหารอย่างเหมาะสม มีการคำนวณปรับสูตรอย่างแม่นยำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพืช รวมไปถึงมีการออกแบบระบบให้ใช้สารละลายอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบปลูกหรือการจัดการอย่างแม่นยำโดยไม่เกิดการสูญเปล่า