ข่าว

 “อัลปากา" อูฐจากอเมริกาใต้ เลี้ยงสวยงาม-ขายขนสวย

“อัลปากา" อูฐจากอเมริกาใต้ เลี้ยงสวยงาม-ขายขนสวย

12 มี.ค. 2560

โดย - เม่นแคระ

เป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวขานถึงไม่น้อยสำหรับ “อัลปากา” สัตว์เลี้ยงในตระกูลอูฐ (camelid) แห่งทวีปอเมริกาใต้ ที่ปัจจุบันดังกระฉ่อนไปทั่วโลกอันเนื่องมาจากอุปนิสัยที่น่ารัก ใจดี เข้ากับมนุษย์ได้ง่าย ลำตัวที่คล้ายคลึงตัวยามา ทว่าดูเผินๆ คล้ายแกะคอยาว ขนปุกปุยนุ่มละเอียดมือ ต่อมาเมื่อนำไปแปรรูปเป็นผ้าห่ม เสื้อหนาว หมวก ถุงมือ ผ้าพันคอ เครื่องนุ่งห่มประเภทต่างๆ ผลิตภัณฑ์จึงมีความหรูหรา ราคาแพงสุดเว่อร์

“อัลปากา\" อูฐจากอเมริกาใต้ เลี้ยงสวยงาม-ขายขนสวย

ไม่เพียงเท่านั้นปัจจุบันพวกมันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงของเหล่าดาราคนดังแห่งฮอลลีวู้ดหลายต่อหลายคน

อัลปากา (alpaca) เป็นภาษาสเปน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Vicugna pacos ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง พบได้บริเวณแถบเทือกเขาแอนดีส ทางตอนใต้ของประเทศเปรู ตอนเหนือของประเทศโบลิเวีย เอกวาดอร์ และชิลี โดยจะอยู่ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 3,500 เมตร (11,000 ฟุต) ถึง 5,000 เมตร (16,000 ฟุต)

“อัลปากา\" อูฐจากอเมริกาใต้ เลี้ยงสวยงาม-ขายขนสวย

อย่างที่กล่าวข้างต้น อัลปากา เป็นสัตว์ในตระกูลอูฐ ซึ่งครอบคลุมถึงอูฐหนอกเดียว อูฐสองหนอก ลา สัตว์จำพวกเคี้ยวเอื้อง ทว่ามี 3 กระเพาะ ไม่เหมือนสัตว์เคี้ยวเอื้องทั่วไปที่มี 4 กระเพาะ ชอบกินหญ้า และด้วยมีเท้าที่อ่อนนุ่ม ทำให้การเดินเล็มอาหารไม่ทำลายทุ่งหญ้า

มีลักษณะคล้ายตัวยามา แต่แตกต่างกันตรงที่อัลปากาไม่ได้ถูกนำมาใช้ในงานขนของ ทว่าพวกมันจะถูกเลี้ยงเพื่อนำขนมาผลิตเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งตามธรรมชาติขนของพวกมันจะมีหลายสี โดยในเปรูได้จำแนกออกเป็น 52 สี ออสเตรเลีย 12 สี และสหรัฐอเมริกา จำแนกเป็น 16 สี

“อัลปากา\" อูฐจากอเมริกาใต้ เลี้ยงสวยงาม-ขายขนสวย

อัลปากา มีสองสายพันธุ์ คือซูริ (suri) และฮัวคายา (huacaya) ซึ่งเผ่าซูริจะให้เส้นใยที่ยาวและนุ่มเหมือนเส้นไหม ส่วนเผ่าฮัวคายาให้เส้นใยที่สั้น หนาแน่น เหมือนขนแกะ ทั้ง 2 ประเภทนี้ตัดขนได้ปีละครั้งๆ ครั้งหนึ่งได้ขนนุ่มประมาณ 2-4 กิโลกรัม

   มีเท้าที่อ่อนนุ่ม ทำให้ไม่ทำลายทุ่งหญ้า อัลปากาไม่มีฟันด้านบน ส่วนสูงโดยเฉลี่ยคือ 125 เซนติเมตร และหนักระหว่าง 60 ถึง 80 กิโลกรัม อัลปากาตัวเล็กและเชื่องพอที่จะสามารถเดินทางในรถกระบะ และสัมผัสกับมนุษย์ได้

ทั้งนี้ อดีตแถบเทือกเขาแอนดีสซึ่งเป็นบ้านของอัลปากา ชาวอินคานิยมนำขนของพวกมันมาใช้งาน เรียกว่า “เส้นใยจากพระเจ้า” ต่อมาศตวรรษที่ 17 ผู้บุกรุกชาวสเปนเข่นฆ่าชาวอินคาและอัลปากาจำนวนมาก ทำให้ตัวที่เหลือหลบหนีไปอยู่บนภูเขาสูงภายใต้ชื่อ “อัลติพลาโน” ด้วยความสูง ภูมิประเทศ ส่งผลให้พวกมันกลายเป็นบรรพบุรุษอัลปากาสายพันธุ์ดีที่สุด มีความทนทาน ให้เส้นใยที่มีความหนาแน่นและมีคุณภาพสูง

ปัจจุบันในบ้านเรามีเลี้ยงที่อัลปากาฮิลล์ ฟาร์มเลี้ยงอัลปากาแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยบนพื้นที่ 250 ไร่ ตั้งอยู่ 357 หมู่ 8 ถนนผาปก-ตะโกล่าง ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ท่านที่สนใจสัตว์น่ารักตระกูลนี้จะเพื่อยลโฉม ต้องการข้อมูลรายละเอียดของสัตว์เศรษฐกิจชนิดนี้ก็ลองคลิกเข้าไปดูได้ที่ www.alpacahill.com