เปิดตัว FLR349 โมเดลจูงใจเกษตรกรเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
เปิดตัว FLR349 โมเดลจูงใจเกษตรกรเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นน้ำด้วยศาสตร์พระราชา
ภาคประชาสังคมชูโมเดลกองทุน FLR349 จูงใจเกษตรกรทำเกษตรยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา ระบุเป็นกองทุนช่วยแก้ไขปัญหาวงจรหนี้สิน และลดทอนการทำลายระบบนิเวศ ตั้งเป้าดำเนินงานต่อเนื่อง 5 ปีชุบชีวิตเกษตรกรภาคเหนือก่อนขยายผลสู่ทั่วประเทศ
วันที่ 27 กันยายน 2561 องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) และภาคีภาคประชาสังคมร่วมเปิดตัวกองทุนฟื้นฟูป่าและสร้างระบบอาหารยั่งยืน “FLR349” หรือ “Forest Landscape Restoration Fund ซึ่งน้อมนำการปลูกป่า3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 (FLR349) เป็นโมเดลแก้ปัญหาวงจรหนี้สินเกษตรกรและปัญหาระบบนิเวศป่าต้นน้ำถูกทำลาย มีกลไกสร้างแรงจูงใจโดยจ่ายเงินสนับสนุนและพัฒนาตลาดรับซื้ออาหารอินทรีย์ให้เกษตรกรยุติการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นน้ำเปลี่ยนมาสร้างป่าควบคู่กับการทำเกษตรเชิงนิเวศ เบื้องต้นเปิดโครงการนำร่องที่บ้านสองธาร (แม่ขี้มูก) หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 26 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 130 ไร่ กองทุนจะสนับสนุนเกษตรกรครอบครัวละ 5 ไร่ จำนวนเงิน 2,000 บาท ต่อไร่ต่อปี เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งเป้าเป็นทางเลือกโมเดลเรือธงในการแก้ปัญหาได้ในทุกพื้นที่ต้นน้ำทั่วประเทศ
FLR349 เป็นโมเดลที่นำการขับเคลื่อนรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน (sustainable consumption and production patterns) มาใช้แก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีองค์กรจากภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเป็นผู้ริเริ่มและจัดตั้ง ประกอบด้วยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF) บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) และมีองค์กรอื่น ๆ ร่วมเป็นภาคีสนับสนุน เช่น Agricultural and Food Marketing Association for Asia and the Pacific (AFMA) ที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ (inter-government non-profit organization) พร้อมกับภาคีที่ให้การสนับสนุนข้อมูลวิชาการด้านต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFCT) เป็นต้น
“กองทุน FLR349 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการวิธีการทำเกษตรจากการทำพืชเชิงเดี่ยวรุกป่าใช้เคมีสูง สู่การทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศ การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง คือวิธีที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากการแผ้วถางทำลายหน้าดิน ผ่านการปลูกและดูแลไม้ป่าถาวร ปลูกไม้ผล และพืชผัก สมุนไพรนานาชนิดแบบผสมผสาน เกื้อกูลฟื้นฟูสร้างระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน น้ำ และเอื้อต่อการผลิตอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัยต่อการผลิตและบริโภค เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนในการพึ่งพาตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการยังชีพและสุขภาวะที่ฟื้นคืนกลับมา ทำให้สามารถก้าวพ้นจากวงจรหนี้สินและการถูกเอาเปรียบเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมในห่วงโซ่ผลิตอาหาร” นายไพรัช โตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองทุน FLR349 กล่าว
“ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรของเราถูกแลกไปกับผลประโยชน์ของนายทุนที่ผูกขาดในระบบอาหาร และการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์การเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่ในวงจรหนี้สินและมีสภาพการเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ระบบเศรษฐกิจฐานรากและระบบอาหารท้องถิ่นก้าวสู่ภาวะล่มสลาย คือไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งแสดงถึงทิศทางการพัฒนาที่ออกห่างจากความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มให้ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาหาทางออกให้กับปัญหา โมเดลกองทุน FLR349 คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้มากกว่าเดิมอย่างน้อย 4 เท่าให้กับเกษตรกรเมื่อเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และที่สำคัญคือการได้ฟื้นคืนระบบนิเวศป่าต้นน้ำ จึงเป็นโมเดลเรือธงสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและสร้างผลประโยชน์ร่วมกันตามแนวทางการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (sustainable develop goals: SDGs)” นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวเสริม
“การปลูกไม้ป่ายืนต้นควบคู่กับการปลูกพืชอาหารที่หลากหลายและเป็นเกษตรกรรมวิถีธรรมชาติปราศจากเคมี โดยผลผลิตพืชผักผลไม้อินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นการสร้างอาหารที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรในการยังชีพ และผลผลิตส่วนที่เหลือกินจะนำมาขายเป็นรายได้ โดยมีวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เป็นผู้รับซื้อ โดยมีการวางแผนการตลาดและแผนผลิตล่วงหน้า และกำหนดราคาที่เป็นธรรม มีการจัดหาตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ (local food chain market) ซึ่งรวมถึงโรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหารในพื้นที่ และตลาดค้าปลีกในระดับประเทศ ซึ่งโมเดลนี้จะก่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษกิจฐานราก เงินหมุนเวียนในชุมชน และการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และอาจต่อยอดถึงการพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย” นายไพรัช โตวิวัฒน์ กล่าวสรุปถึงโมเดล FLR349
ทั้งนี้ ในงานแถลงข่าวเปิดตัวกองทุน FLR349 ยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ “ชวนสังคมร่วมฟื้นป่า” ซึ่งมีตัวแทนจากภาคประชาสังคม เอกชน และเกษตรกรในพื้นที่โครงการมาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความคิดเห็น และในงานยังมีการจัดแสดงภาพถ่าย และผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจากพื้นที่โครงการด้วยเช่นกัน
สำหรับกองทุน “FLR349” เป็นกองทุนที่น้อมนำศาสตร์พระราชา การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการสร้างห่วงโซ่คุณค่าซึ่งเป็นโมเดลให้กับเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ กองทุน FLR349 จะเป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการวิธีการทำเกษตรจากการทำพืชเชิงเดี่ยวรุกป่าใช้เคมีสูง สู่การทำเกษตรกรรมแบบบูรณาการ โดยปลายทางจะนำมาซึ่งการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากการแผ้วถางทำลายหน้าดิน ผ่านการปลูกและดูแลไม้ป่าถาวร ปลูกไม้ผล และพืชผัก สมุนไพรนานาชนิดแบบผสมผสาน เกื้อกูลฟื้นฟูสร้างระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน น้ำ และเอื้อต่อการผลิตอาหารที่หลากหลายและปลอดภัยต่อการผลิตและบริโภค เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนในการพึ่งพาตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการยังชีพและสุขภาวะที่ฟื้นคืนกลับมา ซึ่งจะทำให้สามารถก้าวพ้นจากวงจรหนี้สินและการถูกเอาเปรียบเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs)
ดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ http://scp.wwf.or.th/news_stories/?uNewsID=335495