ข่าว

สัตว์ กินสิ่งแปลกปลอม

สัตว์ กินสิ่งแปลกปลอม

17 ส.ค. 2562

คอลัมน์ - พิชิตปัญหาสัตว์ โดย - น.สพ.วิรัช ธนพัฒน์เจริญหรือหมอเล็ก [email protected] 

               สวัสดีครับ เราคงเคยพบเห็นหรือได้ยินว่าเด็ก ๆ ในวัยที่ยังไม่สามารถแยกระหว่างของที่สามารถกินได้หรือกินไม่ได้นำสิ่งของใส่ปากกลืนเข้าไปต้องเดือดร้อนผู้ปกครองพาไปหาคุณหมอให้ช่วยอยู่บ่อย ๆ ในสัตว์ก็พบได้เช่นกัน กรณีนี้ตั้งแต่สัตว์กินเข้าไปเอง เช่น สัตว์ไปกินสิ่งแปลกปลอม อาจเกิดจากการกัดแทะเล่นแล้วกินเข้าไป หรือจากพฤติกรรมที่ไม่ปกติ หรือคนให้โดยไม่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อตัวสัตว์ เช่น ให้ขนม หรืออาหารที่มีไม้จิ้มโดยไม่เอาออก อาหารบางชนิดที่เมื่อสัตว์เคี้ยวแล้วแตกเป็นเสี้ยนแข็งๆ หรือเป็นก้อนแข็ง เช่น พวกกระดูกสัตว์ปีก

   

          คราวนี้มาดูว่าสัตว์จะมีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแปลกปลอมที่กินเข้าไป สิ่งที่พบได้ คือ เรื่องการย่อยเนื่องจากสิ่งที่เผลอกินเข้าไปอาจไม่สามารถย่อยได้ หรือใช้เวลาย่อยนานกว่าปกติ ทำให้เกิดการอุดตันแบบเฉียบพลัน หรือบางครั้งก็ต้องใช้เวลาในการสะสมจนทำให้เกิดภาวะอุดตันขึ้นกับขนาดของสิ่งแปลกปลอม เช่น กระดูกชิ้นใหญ่ๆ ก้อนขนจากการเลียตัวเอง เป็นต้น 

            ต่อมา คือเรื่องการทะลุของทางเดินอาหารมักพบสาเหตุมาจากสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะแหลมคม หรือมีความยาว ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดการทะลุของทางเดินอาหารอันก่อให้เกิดการติดเชื้อ หรือช่องท้องอักเสบได้ อีกความเสียหายที่พบได้ คือ ภาวะลำไส้กลืนกันเนื่องจากการกินสิ่งแปลกปลอมที่ลักษณะเป็นเส้นยาว เช่น เชือก เป็นต้น กรณีนี้ทำให้ลำไส้เกิดการทำงานไม่สัมพันธ์กัน และสิ่งแปลกปลอมลักษณะนี้อาจบาดทางเดินอาหารทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

             ถึงตรงนี้มาดูกันว่าจะทราบได้อย่างไร อาการเบื้องต้นอาจพบสัตว์มีลักษณะอาการป่วยทั่วไปอาจพบการซึมไม่กินอาหาร อาเจียน ปวดท้อง หรือการถ่ายอุจจาระผิดปกติไป รวมถึงลักษณะที่เปลี่ยนไป เช่ นอาเจียนเป็นสิ่งแปลกปลอม ถ่ายดำหรือเป็นเลือดฯลฯ หรือเห็นว่าสัตว์กลืนกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป การตรวจทางสัตวแพทย์คงต้องพึ่งการซักประวัติจากเจ้าของ การตรวจร่างกายและการคลำช่องท้อง และใช้เทคนิคทางรังสีวินิจฉัยเข้ามาช่วยในการวินิจฉัยซึ่งอาจมีการพิจารณาให้สัตว์กินสารทึบรังสีร่วมด้วย รวมถึงการตรวจทางห้องปฎิบัติ การอื่น ๆ ตามความเห็นของสัตวแพทย์

     

 

      จากนั้นการรักษาอาจมีการวางแผนได้หลายวิธีตั้งแต่การรักษาทางอายุรกรรมเช่น การให้ยาระบาย การให้ยาเคลือบกระเพาะ หรือการรักษาตามอาการ เป็นต้น การรักษาทางศัลยกรรมเพื่อนำสิ่งแปลกลปลอมออกมา หรือการแก้ไขภาวะต่างๆ โดยทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับลักษณะสิ่งแปลกปลอม ระยะเวลาที่มีอาการ การตรวจประเมินร่างกายสัตว์ในเวลานั้นมาประกอบการวางแผนการรักษาให้ได้แนวทางที่เหมาะสมที่สุด