ข่าว

ลามหนัก โรคไหม้คอรวงข้าวระบาด ระดมไตรโคเดอร์มาป้องกัน

ลามหนัก โรคไหม้คอรวงข้าวระบาด ระดมไตรโคเดอร์มาป้องกัน

01 พ.ย. 2562

เฉลิมชัย สั่งกรมการข้าวควบคุมโรคไหม้คอรวงข้าวระบาด สุรินทร์ ศรีสะเกษกว่า 360,000 ไร่ เร่งแจกสารชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาป้องกันแปลงข้าวจะเก็บเกี่ยวปลายเดือน

 

1 ตุลาคม 2562 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมการข้าวควบคุมและแก้ไขการระบาดโรคไหม้คอรวงข้าวในจังหวัดสุรินทร์และศรีสะเกษ  

 

โดยกรมการข้าวรายงานว่า พบการระบาดครั้งแรกในแปลงพยากรณ์ศัตรูพืช (ข้าว) จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2562 จากนั้นขยายวงกว้างไป 6 อำเภอได้แก่ อำเภอลำดวน สนม สำโรงทาบ ปราสาท โนนนารายณ์ และศรีณรงค์ ต่อมาพบการระบาดเพิ่มมากขึ้นเป็น 17 อำเภอ 140 ตำบล 1,331 หมู่บ้าน เกษตรกร 49,204 ราย พื้นที่ระบาด 283,454.75 ไร่

 

ส่วนสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2562 พบการระบาดในพื้นที่ 15 อำเภอได้แก่ กันทรารมย์ ขุนหาญ ขุขันธ์ โนนคูณ ปรางค์กู่ พยุห์ โพธิ์ศรีสุวรรณ ไพรบึง ภูสิงห์ เมืองจันทร์ เมืองศรีสะเกษ วังหิน ศรีรัตนะ ห้วยทับทัน และอุทุมพรพิสัย ใน 89 ตำบล เกษตรกร 9,940 ครัวเรือน พื้นที่ระบาด 81,506 ไร่ รวมพื้นที่ระบาดทั้ง 2 จังหวัด 364,960 ไร่

 

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า มีความห่วงใยเกษตรกรอย่างยิ่งเนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่ของประเทศ ก่อนหน้านี้ประสบทั้งภาวะฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยซึ่งเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวได้ จึงให้เร่งควบคุมและแก้ไขการระบาด โดยรายงานต่อรมว. เกษตรฯ อย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดและประเมินความเสียหาย ขณะนี้พบการระบาดในแปลงข้าวหอมมะลิพันธุ์ กข 15 ในช่วงข้าวกำลังออกรวง ใกล้เก็บเกี่ยวได้ 


ทั้งนี้โรคไหม้ในข้าว (Rice Blast Disease) เกิดจากเชื้อรา Pyricularia oryzae. พบทุกภาคของไทย ทั้งในข้าวนาสวนและข้าวไร่ เกิดได้ทั้งในระยะกล้า ระยะแตกกอ และระยะออกรวง โดยหากเกิดในระยะออกรวงเรียก โรคไหม้คอรวงหรือโรคเน่าคอรวง เมื่อข้าวเพิ่งเริ่มให้รวง แล้วถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยวจะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวงทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก จากการสำรวจพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ผลผลิตเสียหายโดยสิ้นเชิง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว เกษตรกรจะได้รับค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลัง 

 

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า สาเหตุที่มีการระบาดเกิดจากก่อนหน้านี้ พื้นที่ดังกล่าวประสบฝนทิ้งช่วง แล้วน้ำท่วมอย่างฉับพลันทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโต เมื่อน้ำลดเกษตรกรจึงใส่ปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยสูตรที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ประกอบกับในแปลงมีต้นข้าวหนาแน่นทำให้อับลม เมื่อเกิดความชื้น มีหมอก น้ำค้างจัด และอากาศเย็นในระยะต่อมาทำให้โรคไหม้พัฒนาอย่างรวดเร็ว หากใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินกว่า 30 - 50 กิโลกรัมต่อไร่ โรคไหม้จะพัฒนาอย่างรวดเร็วกระแสลมแรงทำให้โรคแพร่กระจายเป็นวงกว้าง 

 

กรมการข้าวได้สนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มาพร้อมใช้มอบให้ทุกอำเภอที่พบการระบาดไปแล้วกว่า 1,000 ถุงเพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมพันธุ์ดอกมะลิ 105 ซึ่งอยู่ในระยะออกรวงและจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายนเป็นต้นไปใช้ฉีดพ่นในแปลงเพื่อป้องกันการระบาด โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสาธิตและแนะนำวิธีการนำไปใช้ที่ถูกต้องเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรคไหม้คอรวงข้าว

 

อธิบดีกรมการข้าวกล่าวว่า สารไตรโคเดอร์มาเป็นเชื้อราที่ใช้ป้องกันกำจัดโรคจากเชื้อราได้ซึ่งรมว. เกษตรฯ สั่งการให้เพิ่มการผลิตสารไตรโคเดอร์มาเพื่อให้เพียงพอใช้ในการป้องกันโรคในนาที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิต อีกทั้งเผื่อไว้สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกหน้า โดยแนะนำให้เกษตรกรใช้สารไตรโคเดอร์มาคลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนหว่าน หว่านเมล็ดพันธุ์ประมาณ 10 – 15 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับการใส่ปุ๋ยยูเรียซึ่งมีธาตุไนโตรเจนที่ช่วยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตควรใส่แต่ละครั้งไม่เกิน 10 กิโลกรัมต่อไร่