มกอช.ดึงผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นติวเข้มสารปนเปื้อนสินค้าเกษตร
มกอช.ดึงผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นบินตรงไทย ให้ความรู้ สารปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหาร ให้กับเจ้าหน้าที่ของไทย พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ตามแนวทางสากล
24 มกราคม 2563 มกอช.ดึงผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น บินตรงไทย ให้ความรู้ สารปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหาร ให้กับเจ้าหน้าที่ของไทย พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ตามแนวทางสากลสร้างความตระหนักเรื่องมาตรฐานอาหารส่งออก
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า การสัมมนาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เรื่อง กระบวนการจัดการความเสี่ยงของสารปนเปื้อนในอาหาร มกอช. เชิญ Dr. Yukiko Yamada Senior Advisor of the Ministry of Agriculture, Forestry, and Fisheries of Japan (MAFF) พร้อมคณะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดค่าปริมาณสารปนเปื้อนในสินค้าเกษตรและอาหาร จากญี่ปุ่น มาบรรยายให้ความรู้ ตอบข้อซักถาม และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกัน
เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ของไทยให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการความเสี่ยง ตามหลักการและแนวทางสากลอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์ โดยมี กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนภาคการศึกษา และเจ้าหน้าที่ มกอช. ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้สารปนเปื้อนในอาหาร เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารที่มีความสำคัญ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพอาหาร และสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission; CAC) หน่วยงานกำหนดมาตรฐานสากล ได้กำหนดแนวทางการจัดการความเสี่ยงสารปนเปื้อนในอาหาร
โดยให้ดำเนินการบนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการกำหนดนโยบาย หรือการเลือกแนวทางในการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงด้วย ซึ่งประเทศไทยนั้น สารปนเปื้อนในอาหาร อยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานด้านสินค้าเกษตรและอาหารต่าง ๆ หลายหน่วยงาน และแต่ละหน่วยงานดำเนินการตามขอบเขตภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ จึงทำให้แต่ละหน่วยงานยังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลและทำงานแบบบูรณาการร่วม รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติและนโยบายยังไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันด้วย
มกอช.จึงได้จัดการอบรมเรื่อง “กระบวนการจัดการความเสี่ยงของสารปนเปื้อนในอาหาร” เพื่อเสริมสร้างให้บุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสินค้าเกษตรและอาหารของไทย มีความรู้ และความเข้าใจ ในหลักการและแนวทางสากลของกระบวนการจัดการความเสี่ยงของสารปนเปื้อนในอาหาร รวมถึงจะเป็นโอกาสในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรของหน่วยงานด้านสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ให้มีความใกล้ชิด และหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกลไกการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้มีการดำเนินงานที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันตามนโยบายความปลอดภัยอาหารของประเทศและระดับสากลในอนาคต
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการที่ มกอช. ได้เสนอในการประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ครั้งที่ 9 และฝ่ายญี่ปุ่นเห็นชอบในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรให้แก่เจ้าหน้าที่ของไทย
อย่างไรก็ตามประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีกลไกในการจัดการความเสี่ยงสารปนเปื้อนที่มีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยงานกลางด้านความปลอดภัยอาหาร คือ สำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัยอาหารแห่งญี่ปุ่น เป็นผู้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงตามหลักวิทยาศาสตร์ และส่งต่อผลการประเมินให้หน่วยงานจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ซึ่งกลไกนี้ทำให้หน้าที่ของแต่ละหน่วยงานมีความชัดเจน และการจัดการความเสี่ยงของแต่ละหน่วยงานมีความสอดคล้องและเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์
ญี่ปุ่นยังมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ด้านกระบวนการจัดการความเสี่ยงให้แก่ต่างประเทศเป็นอย่างดี ตามที่ญี่ปุ่นได้จัดการฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่จากประเทศในภูมิภาค ASEAN เพื่อยกระดับความปลอดภัยอาหารของแต่ละประเทศมาโดยตลอด