"กรมชลฯ"ปักธง "โครงการ PIS " เป้าหมาย"ชลประทาน"สู่การบริหาร"น้ำอัจฉริยะ"
การบริหาร"จัดการน้ำ"แบบครบทั้งระบบ สามารถวิเคราะห์ได้ทุกมิติ และตลอดทุกช่วงเวลา เป็นนโยบายท้าทายที่"กรมชลประทาน"อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหาร"จัดการน้ำ"ในอนาคตแบบไร้ข้อจำกัด
การบริหาร"จัดการน้ำ"แบบครบทั้งระบบสามารถวิเคราะห์ได้ทุกมิติและตลอดทุกช่วงเวลา เป็นนโยบายท้าทายที่กรมชลประทานอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหาร"จัดการน้ำ"ในอนาคตแบบไร้ข้อจำกัด
ซึ่งจากวิกฤติไวรัส"โควิด-19"ที่เกิดในปี2563 ต่อเนื่อง 64 ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้การบริหาร"น้ำ"ได้เต็มกำลังแม้สถานการณ์จะมีข้อกำจัดเพื่อช่วยเหลือประชาชน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ”มุ่งเป้าสู่การชลประทานอัจฉริยะ(The Project for Irrigation toward Smart (PIS)”ซึ่งจะเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสมมาบริหารจัดการได้ตลอด24 ชม.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานกรมชลประทาน
เป็นการผสานระหว่างคนและเครื่องมือโดยจะเริ่มพัฒนาระบบปี2564เป็นต้นไปเพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องจำนวนบุคลากรและอุปสรรคที่คาดไม่ถึงซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานแล้ว
เป้าหมายโครงการ 10 ปี เนื่องจากโครงการนี้จะเป็นลักษณะของการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไขให้มีการนำเทคโนโลยีปรับเข้ามาใช้ตามภาวะงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กรมจะมีการตั้งให้มาสอดรับกับพันธกิจที่วางไว้
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาพื้นที่ทำโครงการนำร่อง 1 แห่งคาดว่าจะเริ่มในปี 2565-66 เพื่อจัดวางระบบให้ครบสมบูรณ์และวัดผลสัมฤทธิ์ได้ใน 1 ปีก่อนที่จะขยายชุดโครงการนี้ไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การบริหารจัดการน้ำแบบอัจฉริยะที่แม่นยำ มีความทั่วถึงและเป็นธรรมโดยประชาชนมีส่วนร่วม
ทั้งนี้รูปแบบการบริหารจัดการชลประทานอัจฉริยะ จะมีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โดยต้นน้ำจะมีเครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่มีระบบโทรมาตรเพื่อให้ทราบถึงปริมาณน้ำไหลลงอ่างที่สามารถติดตามได้ตลอด 24 ชั่วโมง ข้อมูลจากระบบโทรมาตรที่วัดได้จะส่งมายังศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลฯสามเสนเพื่อเป็นข้อมูลใช้ในการพยากรณ์และวางแผนบริหารจัดการ
ประกอบการพิจารณาจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณฯน้ำต้นทุนที่มีอยู่และเหมาะสมกับความต้องการใช้จริงและป้องกันอุทกภัยจากนั้นคำสั่งจาก SWOC ที่สามเสน จะส่งไปยังที่ SWOC สำนักงานชลประทาน(สชป.) ที่ดูแลในพื้นที่ควบคุมบานประตูน้ำ(SCADA)ที่มีหน้าที่บริหารตรวจวัดอัตราการไหลของน้ำและควบคุมบานประตูน้ำอัตโนมัติ ทำการเปิด-ปิด บานระบายอัตโนมัติตามข้อสั่งการ โดยระบบจะเชื่อมโยงทั้งหมดสามารถเช็คได้จากส่วนกลางเพื่อให้การจัดการน้ำบรรลุตามพันธกิจ
สำหรับโครงการ PIS เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้กรมชลฯจะต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านบริหารจัดการน้ำเพื่อชลประทานอัจฉริยะเพิ่มในหลายด้านเพื่อทำให้ข้อมูลที่ส่งมา SWOC กรมชลฯสามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ
อาทิ การจัดให้มีโทรมาตรในอ่าง โทรมาตรวัดพฤติกรรมเขื่อน โทรมาตรระดับลุ่มน้ำ การพัฒนาเทคโนโลยีในการควบคุมบานระบายน้ำ(SCADA) ของswoc ของสชป. การพัฒนาฝายพับได้ และการทำโมเดลคำนวณความต้องการใช้น้ำ
การพัฒนาUAV หรือโดรน(UAV sensor )ซึ่งกรณีโดรนอนาคตจะพัฒนาให้สามารถตรวจสอบแปลภาพจำแนกชนิดพืชได้ ติดตั้งเครื่องวัดความชื้นในดิน วัดระดับน้ำในแปลงนา เพื่อคำนวณความต้องการใช้น้ำได้ เพื่อความแม่นยำในการจัดสรรน้ำให้พื้นที่
“ปัจจุบันการพัฒนาศักยภาพองค์การตาม PIS นี้ได้ดำเนินการมาตลอดในช่วง 2ปีที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้ยกระดับให้เป็นเป้าหมายชัดเจนเพื่อให้กรมมีหน้าที่พัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้เป้าหมายโครงการคือหาเทคโนโลยี เครื่องมือมาช่วยเสริมการทำงานให้สมบูรณ์ เป็นการผสานระหว่างคนกับเทคโนโลยีเพราะบางพื้นที่กว้างขว้างมากแต่จำนวนคนจำกัด
ดังนั้นเครื่องมือ เช่น โทรมาตรกรมก็มีแล้ว จัดวางไว้ครบ 22 ลุ่มน้ำ แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกมิติ การเปิด-ปิด บานระบายยังต้องใช้คนในการทำงาน บางครั้งอาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ การมีscada ทำให้สามารถสั่งการได้ทันที แต่หากติดขัดคนในพื้นที่ก็ค่อยลงไป
การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จะดำเนินการโดยสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยาของกรมชลฯ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาเครื่องมือใช้ในงานชลประทานได้หลายชนิดและได้ผลเป็นที่น่ายินดีบางชนิดได้รับรางวัล ในขณะที่ด้านบุคลากรจะต้องมีการพัฒนาให้สอดรับกับโครงการ “ ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
รองอธิบดีกรมชลฯกล่าวด้วยว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จคือความร่วมมือของประชาชน เกษตรกร ดังนั้นโครงการนี้จะต้องทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูล เช่นประชาชน เกษตรกรสามารถเข้าดูข้อมูลการระบายน้ำในโครงการ รอบเวรการส่งน้ำ และร่วมไปถึงนำไปวางแผนการเพาะปลูกได้อีกด้วย โดยกรมจะพัฒนาช่องทางสื่อสารให้เชื่อมโยงกับประชาชน เพราะเทคโนโลยีทั้งหมดที่กรมดำเนินการก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน.