ข่าว

ฉาว พ.ต.อ.โดน ป.ป.ช.ฟันดูแลงบจัดซื้อได้รับตำแหน่งสูงขึ้น

ฉาว พ.ต.อ.โดน ป.ป.ช.ฟันดูแลงบจัดซื้อได้รับตำแหน่งสูงขึ้น

17 ม.ค. 2563

เปิดปูม สกบ. หน่วยจัดซื้อโครงการยักษ์ มือไม้ สตช. แฉตั้ง พ.ต.อ. ฉาวโดน ป.ป.ช. ชี้มูล รับหน้าที่ดูแลการประมาณราคา

 

               เป็นเรื่องที่ต้องติดตามชนิดห้ามกะพริบตาหลังมีการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. ทั้งโครงการระบบไบโอเมทริกซ์ 2,100 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะ 900 กว่าล้านบาท ปรากฏว่า ทุกโครงการจัดซื้อจัดหาโดยสำนักงานส่งกำลังบำรุง หรือ สกบ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งสิ้น ทำให้หลายคนสงสัยว่า สกบ. มีหน้าที่อะไร ทำไมถึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

 

 

               ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563  สำนักข่าวเนชั่นตรวจสอบพบว่า สำนักงานส่งกำลังบำรุง หรือ สกบ. เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดเป็น “ผู้บัญชาการ” ยศ พลตำรวจโท มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน “วิสัยทัศน์และพันธกิจ” ของหน่วยว่า “เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นเลิศด้านส่งกำลังบำรุงตามมาตรฐานสากล ด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานของตำรวจทุกหน่วยจนเป็นที่ยอมรับของตำรวจและประชาชนทั่วไป” โดยงานหลักที่สำนักงานส่งกำลังบำรุงรับผิดชอบ คืองานเกี่ยวกับพัสดุทั้งหมด ทั้งการจัดหาพัสดุ การจำหน่ายพัสดุ การควบคุม/เก็บรักษาพัสดุ และราคาพัสดุที่เคยจัดหา ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่สำนักงานส่งกำลังบำรุงจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดหาโครงการต่างๆ จำนวนมาก

 

 

 

               ทั้งนี้ คำถามต่อมาคือเหตุใดจึงเข้าไปเกี่ยวข้องเฉพาะกับโครงการใหญ่ๆ ประเด็นนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักงานส่งกำลังบำรุง ให้ข้อมูลว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติกระจายอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างไปยังกองบัญชาการต่างๆ แต่มีเพดานสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เกินมูลค่า เช่น 200 หรือ 500 ล้านบาท หากเกินกว่านั้นต้องดำเนินการโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งความหมายก็คือต้องดำเนินการโดย ผบ.ตร. ซึ่งมีสำนักส่งกำลังบำรุงทำหน้าที่คล้ายฝ่ายธุรการ ด้วยเหตุนี้ โครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ๆ จึงอยู่ในความรับผิดชอบของ สกบ. ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งโครงการระดับหมื่นล้านอย่างโครงการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจและแฟลตที่พักตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งปรากฏข่าวอื้อฉาวจน ป.ป.ช. ต้องชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

               สำนักข่าวเนชั่นแจ้งต่อว่า สำหรับหน่วยงานในสังกัด สกบ. ประกอบด้วย 3 กองบังคับการ คือ กองพลาธิการ กองโยธาธิการ และกองสรรพาวุธ จากความสำคัญของหน่วย / ทำให้ที่ผ่านมานายตำรวจที่ได้รับโอกาสไปทำหน้าที่ผู้บัญชาการ สกบ. ส่วนมากจะเป็นนายตำรวจที่ใกล้ชิดกับ ผบ.ตร. อย่าง พล.ต.ท.สุรพล แก้วขาว ผู้บัญชาการ สกบ. คนปัจจุบัน ก็เป็นนักเรียนนายตำรวจรุ่น 36 รุ่นเดียวกับ ผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ขณะที่ พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ อดีตผู้บัญชาการ สกบ. คนก่อนหน้านี้ ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไป ก็เป็นนายเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 เช่นกัน และมีความสนิทสนมกับ ผบ.ตร. อย่างมาก ล่าสุด แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ยังได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นที่ปรึกษา ผบ.ตร. ทำงานอยู่หน้าห้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ อยู่ในปัจจุบัน

 

 

 

               โดยทั้งหมด ทั้งอดีตผู้บัญชาการ สกบ. / ผู้บัญชาการคนปัจจุบัน และ ผบ.ตร. ล้วนเป็นกลุ่มก๊วนเดียวกัน โดยในยุค พล.ต.ท.ติณภัทร เป็นผู้บัญชาการ สกบ. มีการจัดซื้อและส่งมอบทั้งระบบไบโอเมทริกซ์ และรถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะ ส่วนตำแหน่งรองๆ ลงไปที่เป็น “มือทำงาน” ส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นลูกหม้อของหน่วย หรือคนที่ “มองตาก็รู้ใจ” และเข้าใจว่าผู้บังคับบัญชาต้องการอะไร

               อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 หลังทั่วประเทศ และโครงการก่อสร้างแฟลตที่พักตำรวจ รวมมูลค่านับหมื่นล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานส่งกำลังบำรุง หรือ สกบ. เช่นกันนั้น ก็มีปัญหาถูกร้องเรียนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ปรากฏว่า มีนายตำรวจระดับ “พันตำรวจเอก” ใน สกบ. ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติแล้ว ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้นใน สกบ. ด้วย โดยมีหน้าที่ดูแลเรื่องการประมาณราคา ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง จนมีบางฝ่ายตั้งคำถามว่า ผู้ที่ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายมีความผิดหรือไม่ เพราะตั้งคนที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้วมาทำงาน แทนที่จะปลดออก ไล่ออก หรือลงโทษทางวินัย

 

 

 

               สำนักข่าวเนชั่นระบุอีกว่า สำหรับสาเหตุที่ สตม. มีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการนั้น เป็นเพราะ สตม. เป็นหน่วยงานที่มีรายได้ คือรายได้จากค่าปรับและค่าธรรมเนียมคนเข้าเมือง หากไม่กันเอาไว้จัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ก็ต้องส่งเข้าคลัง ทำให้ สตม. มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมากเพื่อนำรายได้มาใช้จ่าย ถ้าเป็นโครงการมูลค่าเกิน 500 ล้านบาท ก็จะใช้บริการสำนักงานส่งกำลังบำรุง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการจัดซื้อจัดจ้างว่าแต่ละโครงการต้องมี “เงินทอน” ไม่มากก็น้อยทุกโครงการ

               ด้านความคืบหน้ากรณีโครงการเรือตรวจการณ์ สตม. จัดซื้อ 27 ลำ ใช้งบ 348 ล้าน แต่เรือดังกล่าวกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงตามวัตถุประสงค์ที่เขียนไว้ในโครงการดังกล่าว เนื่องจากมี ตม. จังหวัด หลายแห่งที่รับมอบเรือไปแล้วนำไปจอดไว้บนบกที่โรงเก็บ ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ บางแห่งไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม. ขับเรือเป็น ขณะเดียวกันยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าในสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีกองบังคับการตำรวจน้ำ (บก.รน.) ที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติหน้าที่ทางน้ำ ตรวจการณ์ ลาดตระเวน ฯลฯ และโครงการนี้มีความซ้ำซ้อนกับตำรวจน้ำหรือไม่ หรืออาจจะเป็นการทุจริตเรื่องงบประมาณตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

 

 

 

               วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)  พ.ต.อ.เชิงรณ ริมผดี รองผบก.ตม.2 ในฐานะโฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กล่าวถึงกรณีนี้ว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมีภารกิจในการบูรณการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานผิดกฎหมายในภาคประมงไทย โดยการประกอบกำลังร่วมปฏิบัติในการสกัดกันป้องกันปราบปรามสืบสวนขยายผลคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในพื้นที่ตลอดแนวชายแดน และพื้นที่เป้าหมายทั้งพื้นที่ติดทะเลและพื้นที่ข้างเคียงโดยประเทศไทยมีพรมแดนทางทะเลยาว 1,500 ไมล์ และมีด่านตรวจคนเข้าเมืองทางน้ำอยู่ในความรับผิดชอบด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีเรือยนต์ตรวจการณ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่

 

 

 

               พ.ต.อ.เชิงรณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีแผนการในการจัดอบรมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีแผนที่จะรับโอนทหารเรือที่มีความรู้ความสามารถมาบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อว่างเว้นจากการปฏิบัติภารกิจนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและสภาพความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่บางพื้นที่อาจจะสามารถจอดอยู่ในน้ำ แต่บางพื้นที่อาจเกิดภาวะน้ำแล้งหรือเกิดมรสุมจนไม่สามารถจอดในน้ำได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำขึ้นมาจอดบนบก ซึ่งสามารถนำมาจอดไว้ใกล้ที่ทำการเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับทรัพย์สินของทางราชการ

               เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)  พล.ต.ต.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย รอง ผบช.สตม. พร้อม พล.ต.ต.พรชัย ขจรกลิ่น ผบก.สส.สตม. แถลงจับกุม นายกาสี อายุ 33 ปี ชาวคูเวต ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดภูเก็ต เลขที่ จ.20/2563 ลงวันที่ 16 มกราคม 2563 ข้อหาข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ สามารถจับกุมได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง แขวงและเขตคลองเตย กทม.

 

 

 

               พล.ต.ต.พรชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต ได้ประสานข้อมูลมายัง สตม. พร้อมลงข้อมูลในระบบไบโอเมทริกซ์ เพื่อเป็นการตรวจสอบ สกัดกั้น และยืนยันตัวบุคคล หลังมีผู้เสียหาย น.ส.เดฟ (นามสมมติ) อายุ 23 ปี ชาวเดนมาร์ก เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.ป่าตอง ว่าเมื่อเวลา 04.30 น. วันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา ได้ดื่มสุรากับเพื่อนชายที่เพิ่งรู้จักกันภายในร้านอาหารแห่งหนึ่งย่านหาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต หลังจากนั้นเกิดอาการมึนเมาจำอะไรไม่ได้ เมื่อตื่นขึ้นมาพบว่าอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งของเพื่อนชายได้เปิดพักไว้ ได้ตรวจสอบพบว่าถูกข่มขืนกระทำชำเราจึงรีบออกจากจุดเกิดเหตุเดินทางมาแจ้งความไว้ สภ.ป่าตอง จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางไปตรวจสอบพบว่าผู้ต้องหาได้หลบหนีไปแล้ว พนักงานสอบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้ในที่สุด

 

 

 

               พล.ต.ต.พรชัย กล่าวว่า จากนั้นทาง กก.2 บก.สส.สตม. ได้ลงพื้นที่หาเบาะแสอย่างเร่งด่วนจนทราบว่าผู้ต้องสงสัยที่มีรูปพรรณคล้ายผู้ต้องหาได้เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณโรงแรมดังกล่าว จึงขอตรวจสอบหนังสือเดินทาง ระบุชื่อ นายกาสี จากนั้นจึงเชิญตัวมายัง กก.2 บก.สส.สตม. เพื่อตรวจสอบกับระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่าบุคคลดังกล่าวมีชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าดู และมีหมายจับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว จากการสอบถามเบื้องต้นนายกาสีได้ให้การปฏิเสธและขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น เจ้าหน้าที่ กก.2 บก.สส.สตม. จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ป่าตอง ดำเนินการต่อไป