"ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว" คาดมูลค่าความเสียหายทางมลพิษสูง
กรมควบคุมมลพิษ กำลังประเมิณความเสียหายจาก "ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว" โดยคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายสูง ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมิณ
วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ว่า หากมองด้วยตาเปล่า พื้นที่รัศมี 2 กม.จากจุดเกิดเหตุถือว่า มีอากาศใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดเหตุมากแล้ว
ที่ยังน่าเป็นห่วงคือยังพบว่า สารสไตรีนและฟอร์มาดิไฮด์ ในรัศมี 2 กม.ยังสูงเกินค่ามาตรฐานอยู่ แต่วันนี้ถือว่าอากาศเป็นใจท้องฟ้าโปร่ง อากาศน่าจะกลับสู่สภาพปกติในเร็ว ๆ นี้
"อย่าให้ฝนตก เพราะหากฝนตกการจัดการต่าง ๆ จะยากมากขึ้น เพราะฝนจะชะสารพิษที่ตกค้างลงสู่แหล่งน้ำและพื้นดินได้ แต่วางใจอย่างคือ ชาวบ้านในบริเวณนี้ไม่ได้บริโภคน้ำฝน ส่วนใหญ่จะใช้น้ำประปามากกว่า" นายอรรถพล กล่าว
สำหรับความเสียหายจากไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้วที่เกิดขึ้นนั้น ทางหน่วยงานจะต้องเข้าไปประเมินเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับเจ้าของโรงงาน ดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สิ่งแวดล้อมเช่น
- ดิน
- น้ำ
- อากาศ
สิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสียหายไปเท่าใด คิดเป็นมูลค่าเท่าใด ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้อยู่แล้ว ตอนนี้ยังบอกตัวเลขไม่ได้ว่าเท่าใด แต่ประเมินแล้วน่าจะสูงพอสมควร
นอกจากนี้ทาง กรมควบคุมมลพิษ ยังได้สำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำและคลองโดยรอบที่เกิดเหตุ จำนวน 7 จุด ได้แก่
- คลองชวดลาดข้าว จำนวน 2 จุด ด้านฝั่งตะวันออกของโรงงานเกิดเหตุ
- จุดปากท่อน้ำเสียที่ไหลลงคลองชวดลาดข้าว 1 จุด
- คลองูอาจารย์พร จำนวน 1 จุด ด้านเหนือโรงงานเกิดเหตุ
- ปากท่อน้ำเสียไหลลงคลองอาจารย์พร 1 จุด
- บึงน้ำด้านตะวันตกของโรงงานเกิดเหตุ 1 จุด
- บริเวณรางน้ำหน้าโรงงานเกิดเหตุ 1 จุด
โดยเก็บตัวอย่างน้ำส่งห้องปฏิบัติการกรมควบคุมมวลพิษ ตรวจวิเคราะห์ หา สาร Styrene ซึ่งอยู่ในกลุ่ม VOCs และ Oil&Grease
ทั้งนี้เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ถือว่าเป็นเหตุไฟไหม้ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งเลย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องระดมปฏิบัติภารกิจกันเกือบ 30 ชั่วโมงในการดับไฟ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ด่วน "ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว" นายอำเภอบางพลี สั่งอพยบประชาชน รัศมี 5 กม. หวั่นระเบิดใหญ่
กรมควบคุมโรค เตือนอันตราย "สไตรีนโมโนเมอร์" แนะ 4 กลุ่มโรคต้องระวัง
ไฟไหม้ "โรงงานกิ่งแก้ว" จับตาใกล้ชิดสารพิษปนเปื้อนระมัดระวังการใช้น้ำช่วงนี้
"พอลิสไตรีน" สารตั้งต้น สารก่อมะเร็ง
ย้อนรอย 3 เหตุการณ์ "ไฟไหม้" อันน่าสะพรึง จากซานติก้า สู่ "โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้"