ขอ"ศาลเเพ่ง" สั่งยกเลิก ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้เป็นกฎหมาย"ลักไก่"
ตัวแทนกลุ่มนักศึกษา ยื่นฟ้อง "บิ๊กตู่-ผบ.ทสส." ขอศาลเเพ่งสั่งยกเลิก ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้เป็นกฎหมาย"ลักไก่" ละเมิดสิทธิ เพิ่มโทษการชุมนุม
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 65 ที่ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ตัวแทนภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย นางสาวเจนิสษา แสงอรุณ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,นายพศิน ยินดี ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ,นายวชิรวิทย์ เทศศรีเมือง ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ,นายสิรภพ อัตโตหิ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ เป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,นายเชษฐา กลิ่นดี สมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ,นายณพกิตติ์ มะโนชัย นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นโจทก์ที่ 1-7 ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.เฉลิมพล ฃศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นจำเลยที่ 1-2 โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือ คำสั่งยกเลิก มาตรา 9 พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 พร้อมยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินฯ เพื่อคุ้มครองชั่วคราว
นายนรเศรษฐ์ กล่าวว่าในส่วนเนื้อหาที่ยื่นฟ้องวันนี้ เนื่องจากประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีการระบุว่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้นำ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาบังคับใช้ โดยอนุโลมเปรียบเสมือนการลักไก่ เพิ่มโทษให้การชุมนุมสาธารณะมีโทษที่หนักขึ้น เดิมทีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ถ้าชุมนุมสาธารณะ และมีการแจ้งชุมนุมโดยไม่ชอบ โทษปรับจะไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าตามข้อกำหนดประกาศฉบับนี้ จะถูกอัตราโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นการออกกฎหมายลำดับรองไป เพิ่มโทษกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
ถ้าตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ กลไกการร้องขอให้เลิกการชุมนุม ต้องผ่านศาลเท่านั้น ต้องร้องต่อศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด แต่ประกาศและข้อกำหนดฉบับนี้บอกว่าให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด สามารถออกแบบแผนต่างๆได้ ในการสั่งเรื่องการชุมนุมโดยไม่ต้องผ่านกลไกของศาล จึงเป็น 2 ประเด็นหลัก ที่มายื่นฟ้องวันนี้ และจะขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราว สั่งไม่ให้บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับนี้
นายนรเศรษฐ์ กล่าวต่อว่า วันที่ 23 และ 24 สิงหาคมนี้ จะมีการชุมนุมสาธารณะ ติดตามกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ จึงตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการปล่อยให้ใช้ข้อกำหนดฉบับนี้ อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ ที่มีการออกประกาศในลักษณะนี้ในช่วงนี้
ด้าน นางสาวเจนิสษา กล่าวว่า ตัวข้อกำหนดในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตัวประกาศที่ประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน เนื่องจากว่าเป็นการลักไก่เพิ่มโทษ และยังมีการอ้างว่าการที่ใช้ประกาศรวมถึงข้อกำหนดเหล่านี้ เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการตั้งข้อสังเกตว่า ใช้เพื่อควบคุมโรคหรือควบคุมสิ่งใดใช้เพื่อควบคุมการชุมนุม ที่เป็นสิทธิ์เสรีภาพของประชาชนหรือไม่ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ต้องมายื่นฟ้อง