ยธ.เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังคดี"ข่มขืน" หลังพ้นคุก หวั่นกระทำผิดซ้ำ
"ทนายษิทรา" ร้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังคดี"ข่มขืน"หลังพ้นคุก หวั่นทำผิดซ้ำ รมว.ยธ. เผย มีกฎหมาย JSOC ใหม่พอดี สั่งติด"กำไล EM" คุม 10 ปี ปิดช่องทำผิดอีก หากพบพฤติกรรมเสี่ยงขังฉุกเฉินทันที
เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2565 เวลา 10.00 น.ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับหนังสือจาก นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ "ทนายตั้ม" เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนเพื่อเยาวชนและสังคม ที่ได้นำผู้เสียหายจากคดีทางเพศ มาร่วมยื่นหนังสือด้วย เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมช่วยหามาตรการป้องกันปัญหาทางเพศ
นายษิทรา กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายคดีความผิดเกี่ยวกับเพศจำนวนหลายราย โดยส่วนมากผู้กระทำความผิดอาจจะเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม มีอิทธิพล เป็นผู้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง อาจใช้อำนาจของตนแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และมักกระทำความผิดซ้ำๆ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย จึงขอให้ นายสมศักดิ์ และกระทรวงยุติธรรม ได้หาทางป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยขอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มโทษผู้กระทำผิดทางเพศ หรือหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในเรื่องของผู้ที่กระทำผิดทางเพศ หรือใช้ความรุนแรงนั้น กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือ กฎหมาย JSOC ที่ขณะนี้ได้ผ่านจากการพิจารณาของ ส.ส. และ ส.ว.แล้ว อยู่ระหว่างรอการบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยสาระสำคัญ มีสองมาตรการ คือ 1.มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด 2.มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพันโทษ โดยใช้กับผู้กระทำผิดข้อหา ฐานความผิด ใน 3 กลุ่ม คือ 1.เกี่ยวกับเพศ 2.ชีวิตร่างกาย และ 3.เสรีภาพ ระยะเวลาการเฝ้าระวัง สูงสุด 10 ปี จะมีการใช้ กำไล EM มาใช้ในการควบคุม และติดตามตลอด 24 ชั่วโมงระหว่างการเฝ้าระวัง หากมีพฤติกรรมเสี่ยงหรือฝ่าฝืนเงื่อนไข ตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง สามารถเข้าควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ทั้งนี้ พนักงานคุมประพฤติ จะดำเนินการเสนอรายงานต่ออัยการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน ไม่เกิน 7 วัน และเสนอเปลี่ยนจากมาตรการเฝ้าระวังเป็นคุมขัง ได้ไม่เกิน 3 ปี
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การดูว่าแต่ละคนจะต้องติด กำไล EM ระยะเวลาเท่าไหร่ จะพิจารณาจากประวัติการกระทำผิด ความรุนแรงของการกระทำผิด โทษที่ได้รับและความเสี่ยงจะไปกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อกำหนดการจำแนก โดยบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ทนาย เหยื่อ สื่อมวลซน หรือองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
ด้านผู้เสียหาย ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการกลับมาทำผิดซ้ำของผู้ที่ทำผิดในช่วงระหว่างควบคุมและหลังจากการถูกควบคุม จะมีความแน่ใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ทำอีก พร้อมมองว่าเรื่องทำผิดเกี่ยวกับเพศเกิดขึ้นบ่อยโดยเฉพาะกับผู้หญิง และผู้เสียหายมักไม่ค่อยกล้าออกมาแจ้งความ จึงอยากให้กระทรวงยุติธรรม ออกกฎหมายมาช่วยสังคม และขอให้ช่วยแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีกฎหมายนี้ออกมาควบคุมผู้ทำผิด แต่ยังกังวลว่าเขาอาจจะมีการว่าจ้างคนอื่นให้ไปร้ายผู้เสียหายแทนตัวเองหรือไม่
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าไม่น่ามีใครกล้ารับจ้าง เพราะคนจ้างมีกำไลติดอยู่ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีการว่าจ้างจะมีความผิดเพิ่ม และเรามีอาสาสมัครคุมประพฤติที่จะช่วยดูแลในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ รวมถึงคนในครอบครัวที่จะช่วยกันสอดส่องไม่ให้ไปทำ ที่ผ่านมาคนที่ติด กำไล EM จะกลัว เพราะมีระบบที่ทันสมัย และหากพวกเขายังทำผิดอีกก็จะต้องถูกลงโทษเพิ่มอีก