จำคุก "พ่อมดการเงิน" ราเกซ สักเสนา 335 ปี ปรับ 33 ล้าน ชดใช้ 2.5 พันล้านบาท
ยืน 3 ศาล สั่งจำคุก พ่อมดการเงิน "ราเกซ สักเสนา" 335 ปี ปรับกว่า 33 ล้านบาท เเละให้ชดใช้ผู้เสียหาย 3 สำนวน รวม 2.5 พันล้าน คดี"ทุจริตโกงบีบีซี"
เมื่อวันที่ 12 กันยายน 65 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่2584-2586/2565 ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายราเกซ สักเสนา เจ้าของฉายา"พ่อมดการเงิน" ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด มหาชน หรือ "บีบีซี" ในความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์เเละตลาดหลักทรัพย์
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ ทั้งสามสำนวนว่า "โจทก์" เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่า "จำเลย"
ภายหลังการกระทำความผิด จำเลยกับพวกดังกล่าว ได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน คงเหลือเงินที่ยังไม่ได้คืนผู้เสียหาย 353,363,966 บาท จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลย ในคดีอาญาของศาลอาญาหลายสำนวน ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 3,4,307,308,311,315,334 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91 ให้จำเลยร่วมกันคืนเงิน โดยใช้เงินจำนวน 722,136,005.03 บาท จำนวนเงิน 1,427,195,799.92 บาท และจำนวนเงิน 353,363,966 แก่ผู้เสียหาย และนับโทษ ศาลฎีกา จำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาอื่น ของศาลอาญา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307,308,311 ประกอบมาตรา 315 (เดิม) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษ ฐานช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทง ความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 5 เเสนบาท ในสำนวนแรก 60 กระทง
ในสำนวนที่สอง 6 กระทง ในสำนวนที่สาม 1 กระทง รวม 67 กระทง เป็นจำคุก 335 ปี และปรับ 33,500,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 20 ปี และปรับ 33,500,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับเป็นเวลา 2 ปี
ให้จำเลยร่วมกันคืนโดยใช้เงิน ในสำนวนคดีแรกจำนวน 722,136,005.03 สำนวนที่สองจำนวน 1,427,195,799.92 และสำนวนที่สามจำนวน 353,363,966 บาท แก่ผู้เสียหาย (รวม 3 สำนวน 2,502,695,770.95)
นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1817/2555 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำ ของศาลอาญาเเละศาลชั้นต้นอีกหลายสำนวน
โจทก์แถลงในรายงาน ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.2565 ว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.984/2553 ของศาลอาญา โอนมาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3799/2553 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีหมายเลขดำอื่น ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง
เนื่องจากประเทศแคนาดาไม่อนุญาตให้ดำเนินคดี และคดีหมายเลข ดำที่ 3622/2553และ 3799/2553 ของศาลชั้นต้น ได้รวมพิจารณาเข้ากับสำนวนคดีนี้แล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อในคดีดังกล่าวได้ คำขอในส่วนนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โดยวันนี้เป็นการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาผ่านระบบจอภาพให้จำเลยในเรือนจำ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดนั้น ชอบแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลได้ออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดตามผลคำพิพากษาของศาลฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องระบุว่า เมื่อระหว่างปี 2537-2539 จำเลยซึ่งเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด มหาชน หรือ บีบีซี กับพวกให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี ได้กระทำผิดร่วมกันโดยทุจริตใช้บัตรการอนุมัติให้สินเชื่อเกินบัญชีเกินกว่า 30 ล้านบาท กับเอกชนได้แก่ บริษัทสมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และเอกชนอื่นร่วม 10 แห่ง โดยการอนุมัติดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการสินเชื่อ หรือ คณะกรรมการบริหารของธนาคารก่อนและได้อนุมัติโดยผู้ขอสินเชื่อ ไม่ได้จัดให้มีหลักประกันตลอดจนไม่มีการวิเคราะห์ฐานะของลูกหนี้และความสามารถในการชำระหนี้คืน อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย และจำเลยกับพวกยังได้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกันเบียดบังเอาเงินของธนาคารผู้เสียหายซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายเกริกเกียรติไปเป็นของจำเลยกับพวกและนายเกริกเกียรติโดยทุจริต ซึ่งภายหลังการกระทำความผิด จำเลยกับพวกดังกล่าวได้ชดใช้เงินให้แก่ธนาคารผู้เสียหายบางส่วน โดยโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 722,136,005.03 บาท และจำนวน 1,427,195,799.92 บาท กับจำนวน 353,363,966 บาท