"ป.ป.ส." เผย ปัญหา "ยาบ้า" เกลื่อนเมือง ต้นทุนต่ำ ผลิตง่าย 1.8 แสนเม็ด/ชั่วโมง
"ป.ป.ส." เผย "ยาบ้า" ระบาด เพราะปัจจุบัน ผลิตง่าย-ต้นทุนต่ำ เร่งผลักดัน "โซเดียมไซยาไนด์" สารตั้งต้น เป็นสารที่่ต้องควบคุม แจงครอบครองยาเสพติดน้อยกว่า 15 เม็ด ก็มีความผิด ไม่ได้เป็น "ผู้ป่วย" ที่ต้องบำบัดย่างเดียว
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นาย วิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยถึง สถานการณ์การแพร่ระบาด "ยาเสพติด" ในประเทศไทยว่า ขณะนี้มีมาตราการแก้ไขปัญหายาเสพติด 6 มาตรการ คือ การป้องกัน การปราบปราม การยึดอายัดทรัพย์ การบำบัดรักษา การร่วมมือกับต่างประเทศ การบริหารจัดการ ซึ่งการป้องกันจะต้องควบคู่ไปกับงานปราบปรามด้วย เพราะถือว่า หากไม่มีคนใช้ยาเสพติด ผู้ค้าก็ขายไม่ได้
สำหรับแหล่งผลิตยาเสพติดที่อยู่นอกประเทศนั้น ป.ป.ส. ประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนการข่าวอยู่ตลอด ช่วยกันจับกุมและสกัดกั้น ไม่ให้เข้ามาในประเทศ นอกจากนี้ยังขยายไปถึงโซนยุโรป ล่าสุด ประเทศออสเตรเลีย เชิญนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี , นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และป.ป.ส. ไปศึกษาดูงาน
ส่วนการแพร่ระบาดของยาเสพติดนั้น ยอมรับว่า ขณะนี้สารตั้งต้นในการผลิต คือ "โซเดียมไซยาไนด์" ซึ่งสารตัวดังกล่าว ยังไม่ผิดกฎหมาย แต่ป.ป.ส.กำลังผลักดัน เพื่อให้เกิดการควบคุม ไม่ให้ไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้หารือกับสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา (DEA) เร่งรัดให้เกิดการควบคุมเคมีภัณฑ์ตัวนี้ อีกทั้งต้นทุนต่ำ เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตจากเดิมที่ใช้ชั่วโมงละ 2,700 บาท ตอนนี้เป็นระบบไฮดรอลิคสามารถผลิตได้ชั่วโมงละ 180,000 เม็ด หากถามว่ายาเสพติดหาง่ายหรือไม่ ในกลุ่มของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหาง่ายจริง แต่คนที่ไม่เคยใช้ก็หาไม่ได้
นายวิชัย กล่าวถึงหลักการ ผู้เสพคือผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัดรักษา ว่า ไม่ใช่นโยบายของ ป.ป.ส.อย่างเดียว แต่เป็นนโยบายของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 มีมติว่า จะแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ หรือ อาชญากรยาเสพติด จะต้องมีโทษสูงสุดประหารชีวิต แต่ในกรณีผู้เสพถือว่าเป็นเหยื่อและคนที่เข้าไปใช้ ส่วนใหญ่จะมีอาการทางจิตหรือจิตอ่อน จิตไม่มีความเข้มแข็ง ดังนั้นจะต้องรักษาทางจิต ซึ่งต้องใช้ทางการแพทย์ในการรักษา
ทั้งนี้ไม่ใช่ใครครอบครองยาเสพติดไม่เกิน 15 เม็ด จะเป็น "ผู้ป่วย" ซึ่งในทางกฎหมายกำหนดชัดเจน หากมีสารเสพติดในร่างกาย ถือว่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่หากมีทั้งยาเสพติดและมีสารเสพติดในร่างกายก็จะมีโทษ 2 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาท แต่เจ้าหน้าที่จะให้โอกาสสมัครใจเข้าบำบัด ซึ่งหากไม่สมัครใจก็จะดำเนินการเข้าสู่การบังคับ ซึ่งจะต้องดูจากพฤติการณ์หากมี 3-4 เม็ดและตรวจปัสสาวะไม่เจอ ก็จะตรวจสอบอย่างอื่นประกอบ เช่น การประกอบอาชีพ เส้นทางการเงิน เงินในบัญชี อาจมีโทษไม่เกิน15ปี
ทั้งนี้ขอฝากประชาสัมพันธ์ ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสยาเสพติดมาได้ที่ 1386 โดยรับรองเรื่องการรักษาความลับและความปลอดภัยของผู้แจ้งอย่างแน่นอน 100% เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่ถามชื่อหรือประวัติ อีกทั้งเบอร์ที่โทรเข้ามาจะไม่ปรากฎบนข้อมูของเจ้าหน้าที่ ปีที่ผ่านมามีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามา 16,000กว่าเรื่อง ดำเนินการไปแล้ว 80% ส่วนอีก 20% ไม่ใช่ไม่ทำ แต่ต้องสืบสวนทางลับก่อน
ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/
YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w