"ผู้ช่วย ผบ.ตร." เร่งเครื่องแก้ปัญหาปชช.เดือดร้อน ปีนี้ ยาเสพติดมากที่สุด
"ผู้ช่วย ผบ.ตร." เผยผลงานงบประมาณ พ.ศ.2565 แก้ปัญหาปชช.เดือดร้อน ปีนี้ ร้องเรียกเรื่องยาเสพติดมากที่สุด ขณะที่พื้นที่ บชน.และภาค 5 ดำเนินการ 100%
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ภายใต้การทำงานของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชน สังคมมีความสงบเรียบร้อย โดยมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ ขับเคลื่อนโครงการ โดยในปัจจุบันมีเครือข่ายประชาชนแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 371,063 คน
สำหรับผลการปฏิบัติในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 ถึง 30 ก.ย.65 ได้รับรายงานปัญหาที่ประชาชนเดือนร้อน จำนวน 14,616 เรื่อง และได้ติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดให้หน่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว 14,470 เรื่อง
1.ปัญหาด้านสังคม เช่น ยาเสพติด การแข่งรถในทาง การลักลอบเข้าเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล แหล่งอบายมุขและสถานบริการ หนี้นอกระบบ อาวุธปืน อาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์และเทคโนโลยี ฯลฯ จำนวน 10,818 เรื่อง
2.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง การว่างงาน ความยากจนปัญหาหนี้สิน การขาดแคลนที่ทำกิน ฯลฯ จำนวน 529 เรื่อง
3.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดแคลนแหล่งน้ำ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเสื่อมโทรมในชุมชน ภัยแล้งและอุทกภัย ฯลฯ จำนวน 2,161 เรื่อง
4.ปัญหาด้านความขัดแย้ง เช่น ความเห็นต่างทางการเมือง ศาสนาและเชื้อชาติ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อน การสร้างความเดือดร้อนรำคาญในรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ จำนวน 962 เรื่อง
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นี้ จะเพิ่มความเข้มข้นในการขับเคลื่อนโครงการ ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ได้กำชับให้ สยศ.ตร. และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดกำหนด Action Plan ขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และให้สถานีตำรวจคัดเลือกเครือข่ายภาคประชาชนที่มีประสิทธิภาพ สถานีตำรวจละ 50 คน โดยจะต้องสามารถสะท้อนและร่วมกันแก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชนและชุมชนได้จริง พร้อมกับทำความเข้าใจกับชุด ชมส. ให้ทราบ แนวทางการขับเคลื่อนโครงการที่ถูกต้อง โดยเน้นการสะท้อนปัญหาความต้องการของประชาชนผ่านเครือข่าย ภาคประชาชนให้เป็นรูปธรรม
ติดตามคมชัดลึกได้ที่
YouTube:https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w