ตร.บุกจับ 3 แก๊ง ร้านขายยา ขาย "ยาแก้ไอ" ให้เด็ก ผสมสารเสพติด อึ้ง! ไม่ใช่เภสัช
ตร.ร่วมกับอย. บุกจับ 3 เครือข่ายร้านขายยา แอบขาย "ยาแก้ไอ" ให้เด็ก นำไปผสมสารเสพติด4x100 ตรวจสอบพบไม่ใช่เภสัช บางคนจบแค่ประถมศึกษา
เมื่อวันที่ 28 ต.ค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. กวาดล้างเครือข่าย "ร้านขายยา" 19 จุด จับกุมร้านยา 3 เครือข่าย รวมผู้ต้องหาทั้งหมด 20 คน พร้อมยึดของกลางของกลาง ยาแก้ไอ ยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ และยาแคปซูลเขียวเหลือง กว่า 35 รายงาน มูลค่ากว่า 2,400,000 บาท เนื่องจากมีพฤติกรรมขายยาแก้ไอให้กับเด็ก นำไปผสมสารเสพติดชนิด 4X100
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการ ปคบ. เปิดเผยว่า โดยในส่วนร้านขายยา 3 เครือข่าย แบ่งเป็น เครือข่ายร้านขายยานายธนกฤต เครือข่ายร้านขายยานายธนเทพ และ เครือข่ายร้านขายยานายคมพิษฐ์ ทั้งหมดมีพฤติการณ์การกระทำความผิด โดยขออนุญาตเปิดร้านขายยาหลายแห่ง เพื่อจะได้รับโควต้าในการซื้อยาแก้แพ้ แก้ไอ ในปริมาณมาก และมุ่งเน้นขายในกลุ่มเด็ก ซึ่งขายมากกว่า 3 ขวดต่อครั้ง ปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากยาน้ำแก้ไอ มีส่วนประกอบของไดเฟนไฮดรามีน โปรเมทาซีน และเดกซ์โตรเมธอร์แฟน จึงต้องจำกัดปริมาณการขายจากผู้ผลิตไปร้านยาไม่เกิน 300 ขวดต่อเดือน และจำกัดขายให้ประชาชนไม่เกินครั้งละไม่เกิน 3 ขวด เพื่อป้องกันไม่ให้นำยาไปใช้ในทางที่ผิด
จากการตรวจสอบพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น มักซื้อไปผสมกับสารเสพติด4x100 ทำให้เกิดความมึนเมา ง่วงซึม ขณะเดียวกันที่น่าตกใจคือ ผู้ขายที่ไม่ใช่ "เภสัชกร" บางคนไม่ได้เรียนจบเภสัชศาสตร์ เรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาเท่านั้น เบื้องต้นได้ดำเนินคดีผู้ต้องหาจำนวน 2 คน ในข้อหาร่วมกันขายยาปลอม และร่วมกันย้ายสถานที่เก็บยาโยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนที่เหลือ 18 คน ดำเนินคดีข้อหาประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาต
"ร้านขายยาเป็นสถานที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาสุขภาพได้สะดวกและต้องได้รับคำแนะนำจากผู้มีความรู้ทางเภสัชกรรม ไม่ใช่สถานที่ที่ใช้เพื่อใช้ช่องว่างให้เยาวชนเข้าถึงยาเสพติดง่ายขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการตัดตอนการเข้าถึงยาเสพติดชนิด 4x100 หลังจากนี้ปคบ. จะเข้มงวดตรวจสอบร้านขายยาที่อาจอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ขอโควต้าซื้อยาแก้ไอ แก้แพ้ในปริมาณสูง และนำยาดังกล่าวไปขายแก่กลุ่มเยาวชน หากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค" พล.ต.ต.อนันต์ กล่าว
ด้าน ภญ.วรสุดา ยูงทอง ผู้อำนวยการกองยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตมีผู้ดำเนินกิจการเป็นชื่อเดียวกันและเปิดเป็นเครือข่ายหลายร้าน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีประกาศ เรื่อง การควบคุมการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอที่มีส่วนประกอบของไดเฟนไฮดรามีน หรือโปรเมทาซีน หรือเดกซ์โตรเมธอร์แฟน โดยจำกัดปริมาณการขายยาแก้ไอที่มีส่วนประกอบของยาทั้ง 3 ดังกล่าว จากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาไม่เกิน 300 ขวดต่อแห่งต่อเดือน และจำกัดปริมาณการขายยาให้แก่ประชาชนครั้งละไม่เกิน 3 ขวด เพื่อป้องกันการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด
นอกจากนี้ผู้รับอนุญาตและเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการมีหน้าที่จัดทำบัญชีซื้อและขายยาให้เป็นจริง หากพบร้านขายยาใดฝ่าฝืนการกระทำความผิดซ้ำ จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และพักใช้ใบอนุญาตขายยาจนกว่าคดีถึงที่สุด รวมทั้งแจ้งสภาเภสัชกรรมดำเนินการกับเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต่อไป จึงขอเตือนเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510
มาตรา 26(6) ฐาน “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”ระวางโทษปรับ 2,000-10,000 บาท
มาตรา 32 ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ระวางโทษปรับ 1,000-5,000 บาท
มาตรา 30 ฐาน “ย้ายสถานที่เก็บยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษปรับ 1,000-3,000 บาท
มาตรา 72(1) ฐาน “ขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท
ความผิด พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คมชัดลึก ยังมีเนื้อหาสาระอื่นๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่
Website - www.komchadluek.net
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057