ข่าว

ร้องสอบ อดีต กสทช.เปิด"ข้อมูลลับ" ทางราชการ ชี้เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่

ร้องสอบ อดีต กสทช.เปิด"ข้อมูลลับ" ทางราชการ ชี้เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่

08 พ.ย. 2565

นักวิชาการ ร้อง ปปช. สอบ อดีต กสทช. เปิด"ข้อมูลลับ"ทางราชการ "เงื่อนไข 14 ข้อเยียวยาผู้บริโภค กรณีควบรวมทรู-ดีแทค" ชี้เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ กระทบความเป็นกลาง

เมื่อวันที่  8 พ.ย. 65 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นางสาวรุ่งรวี คล้ายสุวรรณ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสวนดุสิต  เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประจำประธานกรรมการ กสทช. ในประเด็นที่ นพ.ประวิทย์เปิดเผยข้อมูล“เงื่อนไข 14 ข้อเยียวยาผู้บริโภคกรณีควบรวมทรู-ดีแทค” ต่อสาธารณะผ่านสื่อสารมวลชน เนื่องจากในขณะนั้นข้อมูลดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้มีการเปิดเผยหรืออนุญาตให้เปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่และกระทบต่อพิจารณาเรื่องการควบรวมกิจการของคณะกรรมการ กสทช. รวมถึงก่อให้เกิดความสับสนต่อประชาชนที่ได้พบเห็นข่าวดังกล่าว จึงขอให้สำนักงาน ปปช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.ประวิทย์ ว่าเป็นการเข้าข่ายการกระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ ทั้งนี้เพราะ นพ.ประวิทย์ มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการ กสทช.มีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค ถือเป็นบุคคลที่มีฐานะพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปและสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของสำนักงาน กสทช. ได้ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

“ดิฉันพบเห็นข่าวทางสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง พาดหัวข่าวว่า “ เปิด 14 ข้อเยียวยาผู้บริโภค หาก กสทช.ไฟเขียวดีลทรูดีแทค” โดยเนื้อหาข่าวเป็นการรายงานเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานเฉพาะ 14 ข้อที่จะกำหนดในการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ กสทช. และยังไม่ได้มีการเปิดเผย ประกอบกับเห็นว่าพฤติกรรมระหว่าง นพ.ประวิทย์ กับ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ดูมีความสนิทสนมเกื้อกูลกันมาตลอด และยังมีความเห็นไปในทางเดียวกันที่จะคัดค้านไม่ให้มีการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค จึงคาดว่าน่าจะมีการส่งต่อ หรือ แลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรการเฉพาะ 14 ข้อเกี่ยวกับการเยียวยาผู้บริโภค ซึ่งเป็นความลับทางราชการ และนำมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเห็นได้จากพิรุธในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของนพ.ประวิทย์ และคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.สารี ในเนื้อหาที่ความสอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด และเป็นการให้สัมภาษณ์และรายงานข่าวในวันเดียวกัน”อาจารย์รุ่งรวี กล่าว

อาจารย์รุ่งรวี ระบุต่อไปว่า การล่วงรู้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการเฉพาะ 14 ข้อดังกล่าว จึงอาจมีส่วนที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนเป็นผู้สนับสนุนในการเปิดเผยข้อมูลความลับของทางราชการ โดยมีข้อพิรุธในพฤติกรรมและการกระทำหน้าที่อย่างไม่เป็นกลาง ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะหลายครั้งหลายคราว ด้วยการชักจูงความคิดประชาชนผู้รับฟังรับชมไปในทางคัดค้านไม่ให้มีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคตลอดมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นกลางอย่างชัดเจน และอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎนี้จึงเป็นเหตุให้ต้องมายื่นหนังสือต่อสำนักงาน ปปช.เพื่อขอให้ตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่ของ นพ.ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา


 
 ก่อนหน้านี้ เมื่อกลางเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ถูกนักกฎหมายที่เป็นตัวแทนภาคประชาชน แจ้งความกล่าวโทษเป็นคดีอาญา ที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง ในความผิดฐานเปิดเผยความลับทางราชการและ บิดเบือนข้อความจริงหรือนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ สืบเนื่องมาจากการที่มีการให้สัมภาษณ์ของนางสาวสารี อ๋องสมหวัง และนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ว่าได้ทราบและรู้เห็นมาตรการเฉพาะภายหลังการควบรวมกิจการทรูและดีแทค หรือ 14 เงื่อนไขก่อนที่บอร์ด กสทช.จะพิจารณาและเปิดเผย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าพนักงาน และได้ออกหมายเรียก สำนัก กสทช.เข้ามาให้ปากคำแล้ว คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะออกหมายเรียก นพ.ประวิทย์ และ นส.สารี มาสอบปากคำเป็นลำดับถัดไป


 
นอกจากนี้ ในส่วนของสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังถูกร้องเรียนจากนายศรีสุวรรณ  เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร ที่ร่วมกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล 350 ล้านบาท ว่ามีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณ พบว่า 16 องค์กรไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้ทำกิจกรรมเชิงประจักษ์ จึงเชื่อว่า อีก 136 องค์กรที่เหลืออาจมีลักษณะเดียวกับที่สุ่มตรวจก็ได้