ภาคีนักกฎหมาย ร้องศาลแพ่ง เหตุ "ตำรวจ คฝ." ใช้ความรุนแรงสลายม็อบ
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อ "ศาลแพ่ง" ขอให้เรียกตัวแทนจาก สตช. มาไต่สวนกรณี ตำรวจ คฝ.สลายการชุมนุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
วันที่ 22 พ.ย.65 เวลา 10.00 น. ที่"ศาลแพ่ง" ถ.รัชดา ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องต่อ"ศาลแพ่ง" ขอให้ศาลเรียกตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ("สตช.")มาไต่สวนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมจนประชาชน รวมไปถึงสื่อมวลชน ได้บาดเจ็บหลายราย
โดยจะยื่นคำร้องต่อศาลในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ พ.3683/2564 ระหว่างนายธนาพล เกิ่งไพบูลย์ กับพวกรวม 2 คน เป็นโจทก์ฟ้อง "สตช."
เรียกค่าเสียหายในทางแพ่งจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ว่า "ให้จำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุมโดยคำนึงความปลอดภัยของโจทก์ทั้งสองและสื่อมวลชนภายใต้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน" แต่ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ย.65 ที่ผ่านมา "ตำรวจ คฝ." ยังคงใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชนที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งถือเป็นการละเมิดคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาล
ทั้งนี้ นับแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา "ตำรวจ คฝ." ได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงและการใช้อำนาจเกิน
ขอบเขตของกฎหมาย หากพิจารณาจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง นับแต่การชุมนุมในช่วงปี 2563 ถึง
ปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง เท่าที่มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw
และ Mob Data Thail and จำนวนมากกว่า 65 ราย และเป็นการเล็งยิงกระสุนยางไปบริเวณศีรษะมากถึง 25
ราย โดยพบกรณีเด็กอายุ 13 ปี มีแผลที่กลางหน้าผาก และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนยางอย่างน้อย
5 ราย อยู่ในอาการอัมพาต 1 ราย นอกจากนี้ยังมีเยาวชนที่บาดจากกระสุนยางโดยมีอย่างน้อย 5 รายที่ถูกกระสุนยางยิงช่วงศีรษะ และมีผู้ที่สูญเสียการมองเห็นจากการใช้กระสุนยางจากการปฏิบัติหน้าที่ของ "ตำรวจ คฝ."
จำนวน 3 ราย ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาแต่ไม่สูญเสียการมองเห็นมากกว่า 5 ราย
แต่กลับไม่ปรากฏข้อมูลว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ "ตำรวจ คฝ." ที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวได้ถูกสอบสวนถูกตรวจสอบหรือดำเนินการทางวินัยใดๆ แม้คดีนี้จะมีการฟ้องศาล เพื่อขอให้ศาลใช้อำนาจตุลาการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ "ตำรวจ คฝ." รวมทั้งตรวจสอบการควบคุมดูแลสั่งการของผู้บังคับบัญชา ตลอดจนนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ปัญหาการใช้ความรุนแรงของ "ตำรวจ คฝ." ต่อประชาชนและสื่อมวลชนก็ไม่ได้ถูกปรับปรุงแก้ไข ยังคงมีพฤติกรรมกระทำความผิดซ้ำซาก และก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งผู้ชุมนุม สื่อมวลชนรวมถึงผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของ "ตำรวจ คฝ." อย่างจริงจังทั้งจากผู้บังคับบัญชาและจากนโยบาย
ภายหลังการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของ จนท. "ตำรวจ คฝ." ก็ปรากฎว่ามีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ออกมาแถลง
หรือให้ข้อมูลต่อสาธารณะว่ามีความจำเป็นต้องใช้กำลัง และสื่อมวลชนต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ หรือแม้กระทั่งกล่าวโทษสื่อมวลชนว่าไม่อยู่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้ เป็นต้นโดยไม่เคยแสดงการขอโทษหรือแถลงมาตรการในการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง และไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดกับประชาชนและสื่อมวลชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชาแต่อย่างใด
โดยเฉพาะข้อมูลการดำเนินการสอบสวนทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ "ตำรวจ คฝ." ที่ใช้กำลังทำร้ายประชาชน หรือ
ข้อมูลคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ "ตำรวจ คฝ." ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้
ควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน ข้อมูลเหล่านี้ ไม่เคยถูกแถลงให้ปรากฎต่อสาธารณชนจากผู้มีอำนาจ
บังคับบัญชาแต่อย่างใด
การยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกตัวแทน "สตช." มาไต่สวนในครั้งนี้ ภาคีฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีส่วนช่วย
ในการปรับปรุงพฤติกรรมการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและใช้อำนาจตามอำเภอใจของทั้งเจ้าหน้าที่ "ตำรวจ คฝ." และผู้บังคับบัญชาที่มีพฤติกรรมสนับสนุน ให้ท้ายการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองจนก่อให้เกิดพฤติกรรมกร่างและใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดมา