ข่าว

บุกทลาย แก๊งสร้างเหมืองขุด "บิทคอยน์" แอบต่อไฟหลวง รัฐเสียหาย500 ล้าน

บุกทลาย แก๊งสร้างเหมืองขุด "บิทคอยน์" แอบต่อไฟหลวง รัฐเสียหาย500 ล้าน

30 พ.ย. 2565

ดีเอสไอ พร้อมด้วย การไฟฟ้าฯ กรมศุลกากร ปูพรม 41 จุด ทลายแก๊งสร้างเหมืองขุด "บิทคอยน์" แอบต่อไฟหลวง ปล่อยให้เครื่องขุด ทำงาน 24 ชม. ทำให้รัฐเสียหาย500 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน เวลา 07.00 น. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดปฏิบัติการยุทธการปราบสายฟ้าฟาด หรือ Electrical Shock กระจายกำลังตรวจค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัยลักกระแสไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นจุดทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล จำนวน 41 จุด ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร พร้อมยึดเครื่องขุนเงินดิจิทัลกว่า 2,000 ตัว มูลค่ารวมกว่า 400 ล้านบาท ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละกว่า 500 ล้านบาท 

บุกค้น 41 จุดทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล

หลังดีเอสไอได้รับคำร้องเรียน มีการลักลอบตั้งเหมืองขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์โดยผิดกฎหมาย มีการนำเครื่องมือที่ใช้ในการขุดบิทคอยน์มาจากต่างประเทศ และลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย จึงประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งกรมศุลกากร จนพบจุดต้องสงสัยกระจายตัวในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งการทำเหมืองขุดบิทคอยน์ดังกล่าว จะใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณมากขนาดเทียบเท่ากับโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีการลักลอบต่อไฟตรง โดยไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ เป็นการลักกระแสไฟฟ้า  

 

กองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศได้ดำเนินการสืบสวนจนพบ กลุ่มนายทุนที่มีพฤติการณ์จัดหาอาคารพาณิชย์เหล่านี้ ไว้เช่าเพื่อใช้เป็นจุดวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล แต่ละอาคารจะวางเครื่องขุดเงินดิจิทัล จุดละประมาณ 100 เครื่อง มีการนำเข้าเครื่องขุดเงินดิจิทัลมาจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มาติดตั้งในอาคารพาณิชย์ที่มีค่าเช่าในราคาไม่สูงนัก จากนั้นจะทำการลักลอบต่อไฟตรงเข้าตัวอาคารโดยไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในการขุดเงินสกุลดิจิทัล แล้วปล่อยให้เครื่องขุด เปิดทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีผู้พักอาศัยในอาคาร

การต่อไฟเข้าตัวอาคารนี้ จากที่ต้องเสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 500,000 บาทต่อแห่ง แต่มีการจ่ายค่าไฟจริงเพียงแห่งละประมาณ 300 - 2,000 บาทเท่านั้น ทำให้การไฟฟ้านครหลวงเสียหายกว่า 20 ล้านบาท ต่อเดือน หรือปีละเกือบ 300 ล้านบาท

 

การกระทำดังกล่าวนอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังทำให้เกิดความเสี่ยงการเกิดอัคคีภัย เนื่องจากเหมืองขุดเงินสกุลดิจิทัลมีการใช้ไฟฟ้าสูงเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าในโรงงาน จึงทำให้เกิดความร้อนสูง ซึ่งเป็นการใช้อาคารพาณิชย์ผิดประเภท โดยในประเด็นนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการขยายผลต่อไป

               

ทั้งนี้หากพบสถานที่ต้องสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าจะมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการสืบสวนขยายผลต่อไป

แอบต่อไฟฟ้า อุปกรณ์ทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล อุปกรณ์ทำเหมืองขุดเงินดิจิทัล ดีเอสไอ การไฟฟ้า กรมศุลกากร บุกค้น 41 จุด