"เพจสายไหมต้องรอด" พาลูกจ้าง "ตู้ห่าว" ร้อง ก.แรงงาน เบี้ยวจ่ายเงิน
"เพจสายไหมต้องรอด" พา ลูกจ้าง 30 คน อดีตพนักงานขับรถทัวร์ "ตู้ห่าว" ร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกเบี้ยวจ่ายเงินชดเชยและเงินประกัน
นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้ง เพจสายไหมต้องรอด พาตัวแทนลูกจ้างประมาณ 30 คน ของบริษัทเอ็นจีแอล ทรานสปอร์ต จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทนาย "ตู้ห่าว" จากผู้เสียหายทั้งหมดกว่า 500 คน ที่ถูกโกงเงินชดเชย และไม่ยอมคืนเงินประกัน เดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับ นางสาวณัฐพร พิชยภิญโญ ผู้อำนวยการ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กทม. เขตพื้นที่ 10 (มีนบุรี)
นายเอกภพ กล่าวว่า วันนี้ ตัวแทนส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถทัวร์ของบริษัทดังกล่าว ที่ถูกให้ออกจากงานยังไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับทัวร์รับส่งนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศไทย แต่ช่วงปี 63 เกิดการระบาดของโควิด-19 บริษัทจึงมีมาตรการหยุดงาน และสัญญาว่าจะจ่ายเงินเดือนครึ่งหนึ่งทุกเดือน แต่ก็ไม่ได้รับตามสัญญา และมีการเรียกให้พนักงานทุกคนมาเขียนใบลาออก โดยไม่มีการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ไม่คืนเงินประกันที่ทางบริษัทเรียกเก็บจากพนักงาน จำนวน 20,000 บาท
ตนจึงได้ประสานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กทม. เขตพื้นที่ 10 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดเข้าไกล่เกลี่ยเรื่องดังกล่าว
นายอารี ศรีรักษา พนักงานขับรถ วัย 40 ปี กล่าวว่า ตนเข้าทำงานตั้งแต่ ปี 2560 จนถึงกุมภาพันธ์ ปี 2563 ทางบริษัทมีการสั่งให้พนักงานขับรถทยอยกันหยุดงาน แต่ยังคงสถานภาพความเป็นพนักงาน จนมาถึงสิ้นมีนาคม 2563 บริษัทได้จ่ายเงินเดือนให้ครึ่งหนึ่ง จาก 9,000 บาท หลังจากนั้น ก็ไม่ได้เงินเดือนอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
เมื่อทวงถามไปก็ไม่ได้รับคำตอบ จากนั้นบริษัทได้เรียกพนักงานทุกคนให้มาเขียนใบลาออกโดยสมัครใจไม่มีการจ่าย"เงินชดเชย" และเงินประกัน ตนจึงมองว่า มันไม่เป็นธรรม พนักงานทุกคนได้รับผลกระทบจากโควิด จึงอยากให้ทางบริษัทรับผิดชอบเงินเยียวยาตามกฏหมายจึงเข้าร้องเรียนขอความช่วยเหลือกับ เพจสายไหมต้องรอด
ด้าน นางสาวณัฐพร กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงแล้วบริษัทดังกล่าวได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ แต่ตรงที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กทม. เขตพื้นที่ 10 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สะดวกกับผู้ใช้แรงงานที่เดือดร้อนมายื่น ทางเราจึงจะเป็นตัวแทนรับเรื่อง รวมถึงทำบันทึกข้อเท็จจริง และส่งต่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป เพื่อให้ได้รับความครอบคลุมและให้เกิดประโยชน์จากสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ตามข้อเท็จจริงและตาม อำนาจหน้าที่ของ พรบ. คุ้มครองผู้ใช้แรงงานกำหนดเอาไว้ และจะรีบดำเนินการให้ทราบผลภายใน 30 วัน