ตร.วางมาตรการดูแลความปลอดภัย-อำนวยการจราจร รับ "เทศกาลปีใหม่ 2566"
โฆษก ตร. แจง มาตรการดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกด้านจราจร ช่วง "เทศกาลปีใหม่ 2566" เน้นการป้องกัน ความปลอดภัยชีวิต-ทรัพย์สิน ของประชาชน คาดมีผู้เข้าร่วมโครงการฝากบ้าน 4.0 เพิ่มขึ้น
23 ธ.ค.2565 พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พร้อมด้วย พ.ต.ท.ธเทพ ไชยชาญบุตร รองโฆษก ตร. และ พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รอง โฆษก ตร. ร่วมกันแถลงมาตรการดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านจราจรช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการให้ทุกหน่วยปฎิบัติหน้าที่เพื่อดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ มี 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ช่วงวันที่ 20 - 29 ธ.ค. 65 จะระดมกวาดล้างอาชญากรรม โดยเพิ่มความเข้มสืบสวนหาข่าวร่วมกับประชาชน โดยในปีนี้ยังมีโครงการประชารัฐ ร่วมใจดูแลความปลอดภัยประชาชนช่วงเทศกาลสำคัญ (ฝากบ้าน 4.0) มีมาตรการสกัดกั้นการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวประเทศไทยช่วงสิ้นปี
2.การป้องกันเหตุในพื้นที่ จุดสุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ที่ตำรวจจะต้องจัดมาตรการดูแลรักษาพื้นที่ ให้ประชาชนมีความปลอดภัย เตรียมชุดปฏิบัติการทางยุทธวิธี หากมีการรับแจ้งเหตุเพื่อไประงับเหตุ เพิ่มความเข้มในการเข้าออก ในพรมแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
3.มาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางท้องถนน การบังคับใช้กฎหมาย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร
3.1 ช่วงเวลาและวิธีการดำเนินการ มีการกำหนดช่วงการรณรงค์และการประชาสัมพันธ์ระหว่างวันที่ 1-21 ธ.ค.65
- ช่วงก่อนการควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 22-28 ธ.ค.65
- ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.65 - 4 ม.ค.66
- ช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน ระหว่างวันที่ 5-11 ม.ค.65
โดยจะเน้นการบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก เช่น การขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด ขับรถขณะเมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ขับรถย้อนศร ขับรถขณะใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้รถในสภาพไม่พร้อม และจะมีการตั้งจุดตรวจและจุดบริการตามด่านต่างๆ และด่านชุมชนจะมีการบูรณาการร่วมกันกับพื้นที่ที่เป็นเส้นทางที่ไม่ใช่เส้นทางหลัก
โฆษก ตร. กล่าวว่า ในทุกปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะปฏิบัติตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลและช่วงวันหยุด โดยมีคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้การลดอุบัติเหตุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 การบูรณาการเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลักษณะ “ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach)” เพื่อควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านคน ถนน ยานพาหนะ และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด
1.ตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2566 ในทุกระดับ จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action plan) และแต่งตั้งคณะทำงาน วิเคราะห์สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ มาตรการเชิงรุก “1 อำเภอ 1 กิจกรรม”
2. ตรวจสอบถนนจุดเสี่ยง จุดอันตราย และปรับปรุงแก้ไข กำหนดถนนปลอดภัย “1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย”
3. ควบคุมดูแลรถโดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
4. บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง
5. จัดเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล และหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
4.ข้อห้ามข้อแนะนำและข้อพึงระวัง 9 ข้อ ดังนี้
1.ระมัดระวัง ดูแล เด็ก ผู้สูงอายุ ที่อยู่บ้านเพียงลำพัง
2.การระมัดระวังทรัพย์สินของสถานที่ราชการ และการนำพาไปในที่สาธารณะ
3.ระมัดระวังการถูกโจรกรรมข้อมูล เอกสาร อันอาจนำไปสู่อาชญากรรมทางออนไลน์
4.การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณห้ามบริโภคฯ
5.ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรโดยเคร่งครัด
6.ห้ามการยิงปืนขึ้นฟ้า ระมัดระวังการจำหน่ายและเล่นพลุ ดอกไม้เพลิง
7.ระมัดระวังการเกิดอัคคีภัย
8.ระมัดระวังเด็กพลัดหลงจากผู้ปกครอง หลีกเลี่ยงบริเวณที่แออัด และสถานที่เสี่ยง
9.แนะนำช่องทางการแจ้งเหตุ 191, 1599
พล.ต.ต.อาชยน กล่าวอีกว่า โดยขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับแจ้งจากภาคเอกชน ผู้ประกอบการแล้วว่า จะมีการจัดงานปีใหม่ และสวดมนต์ข้ามปีทั่วประเทศหลายแห่ง สำหรับงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2566 ที่จัดงานขนาดใหญ่จุคนได้เกิน 1,000 คนมีทั้งหมด 44 แห่ง
โดยมีจุดที่น่าสนใจในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้ ลานเซ็นทรัลเวิลด์, เมกาบางนา, เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟรอนท์ ส่วนจ.ชลบุรีที่ท่าเรือแหลมบาลีฮาย จ.เชียงใหม่ที่ลานท่าแพ จ.ภูเก็ตที่หาดป่าตอง จ.สงขลา ที่เซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่
ส่วนจุดสวดมนต์ข้ามปีขนาดใหญ่ที่มีความจุเกิน 1,000 คน 4 แห่ง ดังนี้ วัดยานนาวา, วัดศาลาลําดวน สระแก้ว, วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร, วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช สวดมนต์ข้ามปีและจัดปีใหม่ที่รับแจ้งแล้วในเบื้องต้น 103 แห่ง
ด้าน พ.ต.ท.ธเทพ กล่าวว่า ในช่วงปีใหม่นี้ศูนย์ป้องกันอาชญากรรมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี 3 โครงการ ดังนี้
1.โครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ (ฝากบ้าน 4.0 ) โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมาในปี 2563 มีประชาชนฝากบ้านไว้ทั้งสิ้น 9,248 หลัง ปี 2564 มีประชาชนฝากบ้าน 15,638 หลัง ปี 2565 มีประชาชนฝากบ้าน 16,721 หลัง และในปี 2566
คาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโคงการฝากบ้าน 4.0 เพิ่มขึ้น เพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นในการฝากบ้าน,
2.โครงการเพื่อนบ้านเตือนภัย “Neighborhood Watch”
3.โครงการ Stop Walk & Talk ระบบจัดเก็บและค้นหาข้อมูล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการสืบสวนล่วงหน้า และช่วยป้องกันเหตุอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่านมา มีการจัดทำบันทึกข้อมูลระหว่างตำรวจ และประชาชนลงระบบ 593,621 ครั้ง ทำให้สามารถคัดกรองบุคคลเพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่การประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ