"7 วันอันตรายปีใหม่ 2566" ศาลสั่งคุมประพฤติ คดีเมาขับ 8,567 คดี ร้อยเอ็ดแชมป์
กรมคุมประพฤติ เผย มาตรการคุมเข้ม "7 วันอันตรายปีใหม่ 2566" ศาลสั่งคุมประพฤติ คดีเมาแล้วขับ 8,567 คดี 3 จังหวัดสูงสุด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สมุทรปราการ นนทบุรี
5 ม.ค. 2566 นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยมาตรการ คุมเข้ม 7 วันอันตรายปีใหม่ 2566 วันสุดท้าย 4 ม.ค 2566 มีคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติมีจำนวนทั้งสิ้น 1,646 คดี เป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 1,575 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.69 , คดีขับรถประมาท 6 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.36 และคดีขับเสพ 65 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.95
สะสม 7 วัน (วันที่ 29 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566) รวมจำนวนทั้งสิ้น 8,923 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 8,567 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.01 , คดีขับรถประมาท 21 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.24 คดีขับเสพ 335 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.75
โดยจังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 469 คดี สมุทรปราการ จำนวน 388 คดี และนนทบุรี จำนวน 358 คดี
เปรียบเทียบสถิติคดีขับรถ ขณะเมาสุราสะสม 7 วัน ที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 มีจำนวน 7,868 คดี กับ ปี พ.ศ. 2566 จำนวน 8,567 คดี พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนเพิ่มขึ้น 699 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.88
ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ โดยให้บริการประชาชนแจกน้ำดื่ม ผ้าเย็น เครื่องดื่ม อำนวยความสะดวกจราจร ที่จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน และด่านตรวจค้น รวมทั้งสิ้นจำนวน 731 จุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย อาสาสมัครคุมประพฤติ เครือข่ายยุติธรรมชุมชน ผู้ถูกคุมความประพฤติ และประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 10,606 คน
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่ามาตรการคุมประพฤติที่มีต่อผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุราทุกราย จะต้องผ่านการคัดกรองแบบประเมินการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงในการติดสุรา จะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ณ สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับผู้กระทำผิดที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำหรือมีประวัติการกระทำผิดซ้ำ ต้องเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟูแบบเข้มข้นในรูปแบบค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นระยะเวลา 3 วันต่อเนื่อง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมความประพฤติ อาทิ รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และทำงานบริการสังคม ที่ให้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุในโรงพยาบาล และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียต่อตนเองและครอบครัว รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมต่อไป