ผู้การปัตตานี เปิดใจถูก "แต่งตั้งโยกย้าย" นอกฤดู ไม่เป็นธรรม อาจมาจาก 2 กรณี
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เปิดใจ ถูก "แต่งตั้งโยกย้าย" นอกฤดู แบบไม่เป็นธรรม พร้อมตั้งข้อสังเกตอาจมา 2 เรื่อง พร้อมชี้แจงทุกกรณี
จากกรณีที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณา "แต่งตั้งโยกย้าย" นอกวาระในระดับนายพลที่ผ่านมาและโผการแต่งตั้งได้หลุดออกมานั้น มีตำแหน่งที่น่าสนใจ คือ พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ซึ่งถูกปรับย้ายไปในตำแหน่งผู้บังคับการกฎหมายและคดี ภาค 9 ซึ่งได้มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีความผิดในเรื่องใด
โดยหลังจากที่มีคำสั่งการปรับย้ายเผยแพร่ออกมาทางโซเชียล ประชาชนในพื้นที่ได้ให้ความสนใจเนื่องจาก พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดและไม่เคยมีปัญหาในพื้นที่แต่อย่างใด
โดยล่าสุดได้เผยแพร่คลิปลงบน โซเชียล ซึ่ง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้ออกมาพูดถึงกรณีที่ถูก โยกย้ายนอกฤดู โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุและผลที่คาดว่ามีส่วนทำให้เกิดการโยกย้ายครั้งนี้ ซึ่งเนื้อความในคลิปมีดังนี้
"ผมจบมาปี 2532 ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่จบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 33 ปี แล้ว ไม่เคยออกนอกพื้นที่เลย ปฏิบัติหน้าที่อยู่สถานีตำรวจมาโดยตลอด จนดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการ ปี 2562 เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส 2 ปี และปี 64 ก็มาเป็น ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้ 1 ปี 3 เดือน จนกระทั่งมีการแต่งตั้งโยกย้ายนอกวาระ ส่วนตัวเข้าใจว่าการโยกย้ายเป็นเรื่องปกติ เพราะส่วนตัวก็ย้ายมาหลายที่แล้ว แต่การย้ายครั้งนี้ค่อนข้างที่จะยากที่จะเข้าใจ ซึ่งคนที่ถูกย้ายนอกวาระในตำแหน่งเดียวกัน มักจะโดนตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่มีตนนี่แหละที่ถูกย้ายโดยไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ตำแหน่งที่ถูกย้ายไปนั้น ไม่ได้สัมผัสกับประชาชนเลย จึงได้ตั้งข้อสงสัย ประเมิณ และวิเคราะห์ตัวเองว่าเกิดจากสาเหตุเรื่องอะไร มาดูเรื่องการจัดการบริหารพื้นที่ตัวเลขการจัดการคดีอาญา 4 กลุ่ม ปี 65 ที่ผ่านมา พบว่าได้ 100% ทุกเดือน การจัดการเรื่องอื่นก็ไม่มีปัญหา ไม่มีเงื่อนไขในพื้นที่ใดๆ ทั้งสิ้น"
"แต่ก็อาจจะมีเรื่องหนึ่งที่โต้แย้งผู้บังคับบัญชาก็คือเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งจริงๆ มีหลายคดีที่เกิดขึ้น แต่มีเรื่องหลักๆ ที่เกิดในช่วงไทม์ไลน์ที่มีปัญหาก็คือ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่อง ชุมนุมสายบุรี ซึ่งเรื่องนี้มีการแถลงที่กรรมาธิการการทหารไปแล้ว อีกเรื่องเป็นคดีความมั่นคงที่เกิดล่าสุดและมีการสั่งคดี ในช่วงจังหวะที่มีการโยกย้ายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ในช่วงนั้นคดีนี้ตนได้มีการวางแผนการสอบสวนไว้แล้ว แต่ก็มีผู้บังคับบัญชาระดับภาคมาคุมและมีการให้ดำเนินการ ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้งหมด และมีแนวนโยบายจะต้องสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ทางตนมีความหนักใจเพราะมีการวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว การสั่งคดีของเราน่าจะสั่งได้ แต่พอเป้นแบบนี้การสั่งคดีค่อนข้างจะมีปัญหามาก และเชื่อว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องแน่นอน เนื่องจากตนเองได้มีการทำวิจัยร่วมกับทางอัยการในเรื่องคดีความมั่นคง มีการวิเคราะห์คำพิพากษาทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา เราเข้าใจแนวคิดของอัยการกับศาล"
"ส่วนตัวเคยทำคดีแนวนี้ตั้งแต่ปี 2547 จึงได้คิดการสอบสวนที่มีการรัดกุม พอดูคดีนี้ค่อนข้างที่จะเป็นปัญหามากและเชื่อว่าอัยการไม่สั่งฟ้องแน่นอน ถ้าตนสั่งฟ้องไปตามผู้บังคับบัญชาสั่ง จะตอบคำถามชาวบ้านได้อย่างไร เพราะมีจำนวนหลายคนมาก มีผู้ต้องหาทั้งหมด 12 คน ซึ่งสั่งฟ้องได้แค่บางคนซึ่งอาจจะถูกฟ้องกลับก็ได้ และอาจจะเป็นประเด็นเงื่อนไขในพื้นที่ได้ แต่ถ้าผมสั่งไม่ฟ้องไป ผู้บังคับบัญชาอาจจะตำหนิ แต่คิดว่าน่าจะชี้แจงในหลักการข้อกฎหมายแก่ผู้บัญชาได้ ก็เลยดำเนินการสั่งไม่ฟ้องไป พอสั่งไม่ฟ้องไปเมื่อ 15 ธันวาคม 2565 ก็มีการพิจารณาโผโยกย้ายออกมา ผู้บังคับบัญชามีความไม่พอใจค่อนข้างมาก และมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สนองนโยบาย ซึ่งตนเข้าใจดีและพยายามจะเข้าชี้แจง แต่ทางผู้บังคับบัญชาไม่เรียกไปชี้แจง"
"จนกระทั่งโผรายชื่อออกมา ถูกพิจารณา โยกย้าย ไปที่ ตำแหน่งผู้บังคับการกฎหมายและคดี ภาค 9 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้สัมผัสกับประชาชนเลย ซึ่งเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ทางพนักงานอัยการก็มีความเห็นไม่ฟ้องผู้ต้องหาและได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด ซึ่งกรณีนี้ที่ตนไม่สั่งฟ้องนั้นก็เป็นแนวคิดเดียวกันกับอัยการ ว่าการสั่งฟ้องบางคดีไม่ได้เกิดประโยชน์ ที่เราสั่งฟ้องจะทำให้การดำเนินการนั้นเสียหายหมดเลย ไม่สามารถฟ้องใหม่ได้ แต่ถ้าเราสั่งไม่ฟ้อง เราสามารถดำเนินการใหม่ได้ สามารถทำต่อได้ ขณะเดียวกัน หลวง ราชการ ก็ไม่ต้องชดใช้เยียวยา กับจำเลยที่ถูกควบคุมตัว เป็นการเซฟเงินของทางราชการ จำนวนมหาศาลเหมือนกัน"
"หลังจากที่ทราบข่าวว่าอัยการสั่งไม่ฟ้อง ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถ้าหากว่ายังยึดแนวทางตามผู้บัญชายังคิดอยู่อย่างนี้ กระบวนการยุติธรรม 3 จังหวัดน่าจะไปไม่รอดน่าจะแย่มาก จึงได้ยื่นเรื่องไปยังกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ในการศึกษาวิจัยการศึกษากระบวนการยุติธรรมตรงนี้โดยเฉพาะ เรื่องนี้ควรให้คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นองค์กรส่วนกลาง ในการสอบข้อเท็จจริงดีกว่า และจะรอดูว่า ระหว่างตนเองกับแนวคิดกระบวนการยุติธรรมนี้ใครถูกใครผิด เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อไป และพร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเอง ถ้ามีความผิดก็พร้อมที่จะน้อมรับทุกกรณี เช่นเดียวกันกับกรรมาธิการการทหารที่ตนยื่นร้องความเป็นธรรมไปอีกครั้ง ว่าผู้ที่ไปชี้แจงในวันนั้น มีใครที่ไปชี้แจงแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อรูปคดีบ้างจะได้ทราบเลยว่าความจริงมันเป็นยังไง ทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งความจริงตรงนี้มีผลต่อการโยกย้ายหรือไม่ มันคงมีผลในระยะยาวมากกว่า"
"แต่ ณ ตอนนี้ การที่จะถูกย้ายหรือไม่ถูกย้าย ก็เป็นเรื่องของทางผู้บัญชา เมื่อถูกย้ายไป อาจจะอุทธรณ์ตามขั้นตอนข้อกฎหมาย และมีการเยียวยา ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ น่าจะได้รับการเยียวยา 50% ตามพรบ.ใหม่ เพราะขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตามอัตโนมัติอยู่แล้ว ซึ่งมองแล้วก็ไม่เป็นผลอะไรมากมาย และมองไม่ออกว่าจะเยียวยาตอนไหน ตอนนี้ถึงร้องขอความเป็นธรรมไป ก็เชื่อว่าสาเหตุมาจาก 2 เรื่องนี้แหละ จึงอยากให้ขอนำกลับมาพิจารณาใหม่"