ข่าว

"ดีเอสไอ"ชี้แจง ปมอ้างคนสนิท"อธิบดี"แอบเฉลยข้อสอบ จนได้เลื่อนตำแหน่ง

"ดีเอสไอ"ชี้แจง ปมอ้างคนสนิท"อธิบดี"แอบเฉลยข้อสอบ จนได้เลื่อนตำแหน่ง

12 ม.ค. 2566

"ดีเอสไอ" ชี้แจง มีขบวนการสร้างข้อมูลปลอม กล่าวหา ข้อสอบรั่วจนได้เลื่อนตำแหน่ง ยืนยันมาตรการลับสุดยอด เก็บตัวกรรมการ ริบโทรศัพท์ก่อนสอบ 1 วัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดเฝ้า 24 ชม.

จากกรณีมีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ร้องขอความเป็นธรรม เกี่ยวกับ การสอบเลื่อนตำแหน่งไม่เป็นธรรม โดยอ้างว่ามีคนสนิทของอธิบดีดีเอสไอ สามารถนำข้อสอบออกมาเฉลยจนได้เลื่อนตำแหน่ง

 

ล่าสุดดีเอสไอ ชี้แจง ว่า ตามที่ชี้แจงไปเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 จากนั้นเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2566 ได้เกิดขบวนการทำลายภาพลักษณ์องค์กรด้วยการส่งข้อความกันในกลุ่มไลน์ ซึ่งมีการไฮไลท์ข้อความ เอกสารแถลงข่าวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในช่วงที่ระบุถึง การจัดสอบแข่งขันได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นผู้ดำเนินการทั้งออกข้อสอบและตรวจคะแนนทั้งหมด พร้อมมีการจัดทำและเผยแพร่เอกสารปลอม โดยอ้างว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการในการจัดการสอบข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวนเงิน 280,000 บาท โดยดำเนินการเฉพาะในเรื่องของการจัดสถานที่ในการสอบ และการควบคุมดูแลในวันสอบเท่านั้น ส่วนการออกข้อสอบและตรวจคะแนนไม่ได้เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย 

 

ข้อเท็จจริง ตามสัญญาจ้างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ตั้งแต่ออกข้อสอบและตรวจคะแนน

ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีข้อสอบหลุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอชี้แจงว่า เรามีมาตรการรักษาความปลอดภัย และการรักษาความลับ โดยกำหนโดยกำหนดให้เป็นความลับในระดับ "ลับที่สุด" ซึ่งนอกจากกรรมการออกข้อสอบ กรรมการกลั่นกรองข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับ ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อสอบโดยเด็ดขาด 

 

ทั้งนี้ ผู้รับจ้างมีมาตรการในการเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบ กรรมการกลั่นกรองข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับ โดยมีการเก็บตัวก่อนวันสอบ 1 วัน ในสถานที่กำหนด เก็บโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด การติดตั้งกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์ตลอด 24 ชม. พร้อมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณสถานที่ออกข้อสอบและสถานที่เก็บตัว และจะให้ออกจากสถานที่เก็บตัวได้หลังจากที่การสอบเสร็จสิ้นแล้ว

 

สำหรับการสอบคัดเลือกข้าราชการในครั้งนี้ มีผู้มีสิทธิ์สอบรวมทั้งสิ้น 391 คน มีผู้ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพียง 87 คน และยังมีตำแหน่งว่างคงเหลือจากการสอบครั้งนี้ อีก 20 อัตรา ที่ต้องดำเนินการคัดเลือกในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกอีกเป็นจำนวนมาก ตรงกันข้ามกับที่มีผู้ร้องเรียนว่ามีการเฉลยข้อสอบก่อน หากมีข้อสอบหลุดจริงก็น่าจะไม่มีตำแหน่งว่าง 

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอยืนยันว่า การดำเนินการจัดสอบในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งไม่มีการทุจริตในการสอบเลื่อนตำแหน่ง เพราะตามสัญญาการว่าจ้าง กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่สามารถรู้ข้อสอบล่วงหน้าได้ 

 

ดังนั้นข้อกล่าวหาว่ามีการนำข้อสอบออกมาเฉลยนั้นจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง ดังที่เห็นว่ามีกระบวนการสร้างข้อมูลปลอม ที่ระบุว่ามหาวิทยาลัย มีหน้าที่จัดสถานที่ในการสอบ และการควบคุมดูแลในวันสอบเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดตามมาตรฐานการสอบของมหาวิทยาลัย

 

อย่างไรก็ตามนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้ทางดีเอสไอตรวจสอบและชี้แจงต่อสังคม เพราะหลายเรื่องที่รับร้องเรียนมาและชี้แจงไป แต่ยังมีขบวนการสร้างข้อมูลปลอม ส่งในไลน์กลุ่มอย่างต่อเนื่อง หากไม่ชี้แจงสังคมอาจตีความหรือเข้าใจผิด ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีนี้ แต่ทุกเรื่องต้องดำเนินการ

ดีเอสไอ ชี้แจงสอบข้าราชการไม่เป็นธรรม