ข่าว

โฆษก ตร.แจงปม"ชาวจีน"ถือวีซ่าท่องเที่ยวใช้นอมินีทำธุรกิจร้านอาหารในไทย

โฆษก ตร.แจงปม"ชาวจีน"ถือวีซ่าท่องเที่ยวใช้นอมินีทำธุรกิจร้านอาหารในไทย

16 ม.ค. 2566

โฆษก ตร. แจงข้อกังวลกรณี "ชาวจีน" ถือวีซ่านักท่องเที่ยวทำธุรกิจในไทย เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยืนยัน เป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ หากต้องการทำต้องได้รับอนุญาตก่อน

16 ม.ค.2566 พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.)  ชี้แจง กรณีที่มีผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารย่านเยาวราช มีข้อกังวลกรณีชาวจีนถือวีซ่านักท่องเที่ยว แต่เข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยกลุ่มชาวจีนรุ่นใหม่ ที่มาลงทุนโดยใช้นอมินี หรือมีเพียงวีซ่านักท่องเที่ยวเข้ามาประกอบธุรกิจหลากหลายประเภทในย่านเยาวราช เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าขาย ฯลฯ

 

ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเม็ดเงินจะกระจายสู่ท้องถิ่นน้อยลง และผู้ประกอบการไทยจะประสบปัญหาในระยะยาว ขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายจะใช้จ่ายผ่านระบบของจีนระหว่างคนจีนกับคนจีนด้วยกัน รวมถึงสามารถเปิดบัญชีได้ แต่ไม่ทราบว่าปลายทางของเงินจะกลับไปอยู่ที่ประเทศต้นทางของเขาหรือไม่ แต่ที่เห็นชัดคือ ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนกับนักธุรกิจชาวไทยนั้น 

 

 

 

พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร.

 

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญา และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบและบังคับใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2522 สรุปดังนี้

 

1. คนต่างด้าว ถือหนังสือเดินทางสัญชาติจีน สามารถเข้าประเทศไทยได้โดยสามารถขอรับการตรวจลงตราที่ท่าอากาศยาน VOA Visa on arrival ประเภทการท่องเที่ยว 15 วัน ซึ่งปัจจุบันมีมติ ครม. และประกาศกระทรวงมหาดไทย ขยายให้อยู่เป็นจำนวน 30 วัน และเจ้าของพักอาศัยหรือผู้ครอบครองจะต้องแจ้งที่พักอาศัยให้เจ้าหน้าที่ทราบ เมื่อรับคนต่างด้าวเข้าพักในประเทศไทย


2. กรณีที่คนต่างด้าวเข้ามาท่องเที่ยว จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์คนเข้าเมือง ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้ประกอบอาชีพต้องห้าม หรือประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ หากฝ่าฝืนจะเป็นความผิดตามมาตรา 12(3) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2522 หรือมาตรา 101 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พุทธศํกราช 2560 และตามมาตรา 37(1) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พุทธศักราช 2522 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา และเป็นเหตุให้ต้องส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และถูกห้ามมิให้เข้ามาในประเทศไทยตามเงื่อนไขที่กำหนด

 

และเนื่องจากดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและกฎหมายหลายฉบับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นต่อไป โดยจะให้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว สันติบาล และตำรวจในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด

 

 

ผู้ประกอบการร้านอาหารย่านเยาวราช แฉชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจผ่านนอมินี

 

 

 

 

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

 

ด้าน นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ดังนี้

 

- คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติฯ อย่างไรก็ตามกรมฯ มีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี ดังนี้  

อย่างไรก็ตามกรมฯ มีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี ดังนี้

1. ขั้นตอนการจดทะเบียน กำหนดให้คนไทยที่ร่วมลงทุนในนิติบุคคลต้องแสดงหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินที่แสดงว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะลงทุนในนิติบุคคลได้

2. เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะตรวจสอบว่ามีการใช้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการในลักษณะนอมินีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนประกอบธุรกิจควบคุมตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใดกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือการตรวจสอบว่าคนไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เข้าข่ายความผิดนอมินีนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจนหรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจ ปกปิด อำพราง หรือมีการจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพรางในการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงรวมทั้งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตรวจสอบ  ปัจจุบันกรมฯ ได้จัดทำเป็นแผนงานตรวจสอบประจำปีซึ่งธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนงานตรวจสอบด้วย

3. กรณีที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบธุรกิจ (จดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร เทศบาล หรือ อบต.ที่ร้านค้าตั้งอยู่) เป็นการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว ซึ่งคนต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งหากพบว่ามีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานและของกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งหากพบคนไทยมีการจดทะเบียนพาณิชย์แทนคนต่างด้าวก็จะมีความผิดในลักษณะนอมินีด้วย

 

 

ร้านอาหารในเยาวราช ได้รับความนิยมจากนทท.ต่างชาติ