ข่าว

ความสูญเสียที่ซ้ำซาก กับอุบัติเหตุ "รถรับส่งนร." คนประมาทหรือรถไม่พร้อม

ความสูญเสียที่ซ้ำซาก กับอุบัติเหตุ "รถรับส่งนร." คนประมาทหรือรถไม่พร้อม

17 ม.ค. 2566

นักเรียนไทยยังต้องเสี่ยงภัยบนท้องถนนทุกวัน กับอุบัติเหตุ "รถรับส่งนร." ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเหมือนฉายภาพซ้ำ ต้นเหตุเกิดจากคนขับรถประมาท หรือสภาพรถไม่พร้อม

นับตั้งแต่เปิดภาคเรียน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 มาจนถึงต้นเดือน มกราคม 2566 ระยะเวลาเพียง 2 เดือนกว่า  เกิดอุบัติเหตุกับรถรับส่งนักเรียนขึ้นแล้วหลายครั้ง โดยในแต่ละครั้ง มีนักเรียนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยถึงบาดเจ็บสาหัส

 

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2565 จากสถิติ ของ "ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน" หรือ ศวปถ. พบว่าเกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน รวมทั้งสิ้น 16 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บไป แล้ว มากกว่า 165 คน ส่วนสาเหตุ จะเกิดจากพฤติกรรมคนขับรถเป็นหลัก 

 

และจากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 5 ปี จะมีเหตุการณ์ เฉลี่ย 2 ครั้งต่อ 1 เดือน หรือ 1 ปี จะมีอุบัติเหตุประมาณ 30 ครั้ง และยังพบว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2565 พบการเกิดอุบัติเหตุมากถึง 13 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเปิดเรียนหลังจากปิดโรงเรียนจากสถานการณ์โควิดมาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี

 

 

อุบัติเหตุรถรับส่งนร.พุ่งข้ามเกาะกลางถนน นร.บาดเจ็บทั้งคันรถ

 

 

มาตรฐานรถรับส่งนักเรียน

กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยอนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ โดยต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด 

 

อาทิ ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นอย่างมั่นคงแข็งแรง และต้องไม่มีพื้นที่สำหรับนักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้นโดยต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น  

 

 

กรมการขนส่งทางบก กำหนดมาตรฐานรถรับส่งนร.

 

 

ทั้งนี้ รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจนมีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงเปิดปิดเป็นระยะติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถ เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน 

 

 

 

 

อุบัติเหตุรถรับส่งนร.ที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

 

 

พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบตามที่กำหนด ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย ห้ามมีที่ยืนบนรถ โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง 

 

และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว โดยให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศประสานความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนร่วมกันอย่างเข้มงวด