ปปป.บุกจับสาวอบต.ลาดยาว"ยักยอกเงิน" 15 ล้าน อ้างหนี้แอปฯกู้เงินออนไลน์
ปปป. บุกจับเจ้าหน้าที่การเงิน อบต.ลาดยาว "ยักยอกเงิน"กองคลัง 15 ล้าน อ้างหาเงินใช้หนี้แอปฯเงินกู้ออนไลน์ ถูกขู่ฆ่าหมุนเงินไม่ทัน ด้าน ป.ป.ท. เตรียมขยายผลสอบอบต.ทั่วประเทศ
19 ม.ค.2566 เมื่อเวลา 10.30 น. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) พร้อมด้วย นางพรเพชร เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าจังหวัดนครสวรรค์ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 สำนักงาน ป.ป.ท. นำกำลังเจ้าหน้าที่ เข้าจับกุม น.ส.พัชรา (สงวนนามสกุล) อายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีชำนาญงานเทศบาลตำบลลาดยาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ และ เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ได้ภายในห้องประชุมเทศบาลตำบลลาดยาว
สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติของเงินกองคลังเทศบาลตำบลลาดยาว หลังพบมีเงินรั่วไหลจากการเบิกถอนเงินในบัญชีธนาคารเทศบาลโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2565 ถึงวันที่ 17 ม.ค. 2566 จำนวน 215 ครั้ง รวมเป็นเงิน 15,867,275.49 บาท จึงจัดกำลังลงพื้นที่ตรวจสอบ
จนทราบว่า น.ส.พัชรา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและบัญชีชำนาญงานเทศบาลตำบลลาดยาว ที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการเบิกถอนเงินงบประมาณและเงินต่าง ๆ ของเทศบาล ทำการยักยอกเงินทั้งหมดดังกล่าวไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยอาศัยช่องโหว่จากการที่เป็นคนถือรหัส สามารถเบิกถอนเงินออกจากธนาคารได้
ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับรัฐและทางธนาคารเป็นอย่างมาก จึงนำกำลังเข้าทำการจับกุมตัวดังกล่าว พร้อมกับเชิญพยานบุคคลอีก 3 ราย มาสอบปากคำในฐานะพยาน รวมถึงเข้าตรวจค้นบ้านพักของ น.ส.พัชรา เพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม
จากการสอบสวน น.ส.พัชรา เบื้องต้นให้การรับสารภาพว่านำเงินดังกล่าวไปใช้หนี้ที่กู้มาจากแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ หลายเจ้าจึงทำให้หมุนเงินไม่ทัน ประกอบกับมีการส่งภาพคลิปวิดีโอข่มขู่ฆ่าจนเกิดความหวาดกลัว จึงตัดสินใจก่อเหตุดังกล่าวเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ พร้อมยอมรับว่าทำเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวกับสามี หรือ หัวหน้าหน่วยงานคนอื่นๆ ส่วนสาเหตุที่ต้องกู้เงินจากแอปฯเงินกู้ออนไลน์ดังกล่าวเนื่องจากตนเองติดพนันออนไลน์
ด้าน พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวเป็นแค่ส่วนหนึ่งเพียงเท่านั้น เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลการเงินหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ พบมีเงินรั่วไหลออกจากระบบโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์รวมกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการการยักยอกเงินในลักษณะเดียวกันของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นๆ จนสร้างความเสียหายให้กับรัฐเป็นอย่างมาก โดยหลังจากนี้จะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องขยายผลตรวจสอบการเงินงบประมาณต่างๆของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นแต่บะแห่งอย่างละเอียด เพื่อติดตามเงินที่ถูกยักยอกไปกลับคืนมา และ ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก