พบ "ดาบตำรวจ" เอี่ยวเพิ่ม รถนำขบวน สาวจีน เล็งฟันอาญา ดัดแปลงรถส่วนตัว
ฉาวอีก พบ "ดาบตำรวจ" เอี่ยวเพิ่ม "รถนำขบวน" นักท่องเที่ยวชาวจีน จ่อฟันอาญา ตำรวจ ดัดแปลงรถส่วนตัว แจ้งพ.ร.บ.จราจร-พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ
(23 มกราคม 2566) พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงความคืบหน้า กรณีคลิปไวรัล นักท่องเที่ยวสาวจีน รีวิวเข้าไทย โดยอ้างว่า ได้ใช้บริการรถนำขบวนของตำรวจจราจร เพื่ออำนวยความสะดวก และตำรวจท่องเที่ยว พาออกช่องทางพิเศษ โดยไม่ต้องรอคิว เพียงแค่จ่ายเงินเพิ่ม กลายเป็นเรื่องร้อนสะเทือนวงการตำรวจไทย
พล.ต.ต.อาชยน เปิดเผยว่า การตรวจสอบคลิปที่ปรากฏ พบว่า ในส่วนของตำรวจท่องเที่ยว มี "ดาบตำรวจ" รายหนึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก 1 นาย ซึ่งเป็นคนประสานงานกับผู้ชายคนหนึ่ง ที่รู้จักกับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางมายังประเทศไทย จึงได้ติดต่อมายังดาบตำรวจท่องเที่ยวคนนี้ แต่ในวันเกิดเหตุ ดาบตำรวจ ไม่ว่าง จึงโทรศัพท์ให้ ร.ต.อ.สมพล ภิญโญสโมสร รองสารวัตร กองกำกับการ 3 (รับผิดชอบสนามบินสุวรรณภูมิ) สังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 เป็นผู้รับหน้าที่ดูแลนักท่องเที่ยวเอง
ขณะนี้ทั้งสองหน่วยงาน ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และได้แจ้งข้อกล่าวหากับตำรวจจราจร 2 นาย ในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ เนื่องจากพบว่า รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ที่นำไปใช้เป็นรถส่วนตัว แต่ได้ตกแต่งติดไซเรน และเครื่องหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยที่ไม่ได้รับอนุญาต
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากคำให้การในเบื้องต้น มีการระบุว่า รู้จักกับชายคนหนึ่งที่งาน ๆ หนึ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน และมีการแลกเบอร์โทรศัพท์กันไว้ ซึ่งผู้ชายคนนี้ทำเกี่ยวกับเรื่องของรถเช่า รถรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจากการตรวจสอบ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นของส่วนตัว นำมาติดตั้งไซเรน และเครื่องหมายที่เป็นราชการ ส่วนประเด็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ จะต้องพิจารณาเรื่องข้อเท็จจริงประกอบกันทั้งหมด ทั้งวินัย และอาญา
ขณะเดียวกันก็เตรียมเรียกชายคนที่ว่าจ้าง และติดต่อตำรวจให้มารับงานนี้ รวมทั้งนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีน มาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาตรวจสอบคำแปลภาษาไทยของภาษาจีนในคลิปว่า แปลถูกต้องหรือไม่ หรือมีส่วนใดไม่ตรงกับความเป็นจริง
สำหรับการขออนุญาตใช้รถนำขบวน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2544 ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องขออนุญาตใช้โดยผ่าน ผบ.ตร.โดยแบ่งเป็นรถที่ใช้นำขบวนตามปกติ และใช้เป็นครั้งคราว ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บังคับการตำรวจจราจร ในเขตกรุงเทพมหานคร และผู้บังคับการตำรวจทางหลวงในต่างจังหวัด ซึ่งก็จะอนุมัติเป็นราย ๆ ไป
ส่วนผู้ที่จะขออนุญาตใช้รถนำได้ จะต้องเป็นการเดินทางที่เป็นหมู่คณะ มีรถจำนวนหลายคัน ไม่สามารถให้บริการกับนักท่องเที่ยวส่วนบุคคลได้