ข่าว

"ตำรวจไซเบอร์" แนะ 8 ข้อรู้ทันมิจฉาชีพ อ้างเป็นสรรพากรระบาดหนัก

"ตำรวจไซเบอร์" แนะ 8 ข้อรู้ทันมิจฉาชีพ อ้างเป็นสรรพากรระบาดหนัก

30 ม.ค. 2566

"ตำรวจไซเบอร์" แนะ 8 ข้อรู้ทันมิจฉาชีพ ส่ง SMS แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรหลอกลวงประชาชนในช่วงยื่นภาษีประจําปี

30 ม.ค.2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)  หรือ ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร ส่งข้อความสั้น หรือ SMS หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงประชาชนให้กดลิงก์แอดไลน์ของสรรพากรปลอม แล้วส่งลิงก์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอม ซึ่งแฝงมากับมัลแวร์ 

 

โดยมิจฉาชีพมักจะอ้างว่าจะขอทำการตรวจสอบรายได้ หรือเป็นการแจ้งเตือนให้ชำระภาษี หรือให้ทำการยกเลิกเสียภาษีจากโครงการของรัฐบาล หรืออ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้เสียภาษีย้อนหลังได้ ผ่านแอปพลิเคชันกรมสรรพากรปลอมดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังมีประชาชนที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ถูกโอนเงินออกจากบัญชีเป็นจำนวนมาก ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง 

 

 

 

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท.

 

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม กำชับให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 

โฆษก บช.สอท. ระบุอีกว่า การหลอกลวงในทุกรูปแบบสิ่งแรกที่มิจฉาชีพมักจะทำก่อนเสมอ คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ เช่น ตั้งรูปกรมสรรพากรเป็นโปรไฟล์แอปพลิเคชันไลน์ใช้ในการพูดคุยกับเหยื่อ หรือใช้ข้อมูลที่มิจฉาชีพรู้บอกเหยื่อก่อน ซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมักจะประกอบอาชีพค้าขาย เกี่ยวข้องกับการเสียภาษี โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง

 

 

 

อย่างไรก็ตาม บช.สอท. แนะแนวทางการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ดังนี้ 

1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟล์ .APK เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ (Malware) ของมิจฉาชีพ

2.ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น

3.ตรวจสอบก่อนว่า เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรจริงหรือไม่ ให้ท่านขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้ติดต่อกลับ หรือโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) 1161 ของกรมสรรพากรโดยตรง

4.ระมัดระวังแอปพลิเคชันที่ขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ขอเข้าถึงอัลบั้มรูปภาพ, ไมโครโฟน, ตำแหน่งที่ตั้ง, หมายเลขโทรศัพท์, รายชื่อผู้ติดต่อ เป็นต้น โดยควรอนุญาตให้เข้าถึงเท่าที่จำเป็น

5.หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวแล้ว ให้รีบเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) เพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงถอดซิมโทรศัพท์ออก จากนั้นเข้าไปติดต่อกับศูนย์บริการโทรศัพท์ที่ท่านใช้งานอยู่

6.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด

7.หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่ส่งต่อกันมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และให้ตรวจสอบทุกครั้งก่อนที่จะติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ

8.ไม่โอนเงิน หรือทำธุรกรรมการเงินใดๆ ผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านลิงก์ หรือผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญชีธนาคารที่ใช้ชื่อของบุคคลธรรมดา