อาการล่าสุด "ตะวัน-แบม" แพทย์ต้องเพิ่มความถี่การตรวจ ติดตามระดับน้ำตาล
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 5 ชี้แจง อาการล่าสุด "ตะวัน-แบม" หลังอดอาหารประท้วงเป็นเวลานาน แพทย์ต้องเพิ่มความถี่การตรวจ ติดตามระดับน้ำตาล
จากกรณีที่ "ตะวัน-แบม" สองนักกิจกรรมอิสระ จำเลยในคดี ม.112 ได้ ประท้วง อดอาหารนานหลายวัน จนเกิดอาการป่วย ล่าสุดได้นำส่งรักษาตัวที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ซึ่งล่าสุด ทาง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ออกแถลงอาการล่าสุดของทั้ง 2 คนออกมาเป็น ฉบับที่ 5 โดยมีข้อความดังนี้
สรุปอาการป่วย คุณทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และ คุณอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม)
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 วันที่ 13 ของการรักษา
คุณทานตะวัน ยังคงไม่รับประทานอาหารแต่จิบน้ำ ตื่นแต่โต้ตอบช้า อ่อนเพลียมากขึ้น ปากแห้ง พะอืดพะอมตลอดเวลา ยังมีเลือดออกตามไรฟัน ไม่มีเลือดออกผิดปกติหรือจุดจ้ำเลือดออกที่บริเวณอื่น มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่ มีลมในช่องท้อง นอนหลับแล้วตื่นกลางดึกหลับต่อไม่ได้ รู้สึกว่าการคิดและความจำลดลงมีความกังวลเรื่องปัญหาทางสุขภาพจากการอดอาหาร การตอบสนองทางอารมณ์ เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือด 50mg/dL มีภาวะเกลือแร่ต่ำหลายชนิด มีภาวะเลือดเป็นกรด ค่าคีโตนสูง (serum ketone 6.05 mmol/L) เนื่องจากภาวะอดอาหาร ปฏิเสธคำแนะนำเรื่องการดื่มน้ำผสมวิตามินซีเพื่อบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน ปฎิเสธการรักษาด้วยน้ำเกลือที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและเกลือแร่ที่ผิดปกติ ทำให้ทีมผู้รักษาเพิ่มความถี่ในการตรวจติดตามระดับน้ำตาล และเฝ้าระวังอาการน้ำตาลต่ำอย่างใกล้ชิด
คุณอรวรรณ ยังคงไม่รับประทานอาหารแต่จิบน้ำ ตื่นรู้สึกตัวดี อ่อนเพลียมากขึ้น จนทำให้ต้องลดการเคลื่อนไหว เหนื่อย ใจเต้นเร็ว ปากแห้ง ไม่กินอาหารพะอืดพะอมเวลาจิบน้ำ ต้นขาอ่อนแรง มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่ มีลมในช่องท้อง หน้ามืดและเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ สามารถตอบโต้ได้มีความกังวล เรื่องปัญหาทางสุขภาพจากการอดอาหาร การตอบสนองทางอารมณ์เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือด 61 mg/dL มีภาวะเกลือแร่ต่ำหลายชนิด มีภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีภาวะเลือดเป็นกรด ค่าคีโตนสูง (serum ketone 6.06 mmol/L) เนื่องจากภาวะอดอาหารปฏิเสธการดื่มน้ำผสมเกลือแร่เพื่อลดภาวะเลือดเป็นกรด ตั้งแต่วันที่ 3/2/2566 จนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธการรักษาด้วยน้ำเกลือที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและเกลือแร่ที่ผิดปกติ ทำให้ทีมผู้รักษา เพิ่มความถี่ในการติดตามระดับน้ำตาลและเฝ้าระวังน้ำตาลอย่างใกล้ชิด