พลิกปมคลั่ง ย้อนรอยเหตุ 'กราดยิง' ถอดบทเรียน อาชีพ 'ตำรวจ-ทหาร' มีผลต่อความเครียด? หวั่นเกิด โศกนาฎกรรม ซ้ำซาก
ภาพเหตุการณ์ล่าสุด เมื่อ สารวัตรกานต์ ตำรวจคลั่ง กราดยิง ภายในบ้านพักย่านสายไหม นานกว่า 26 ชั่วโมง แม้ครั้งนี้ ไม่ได้เกิดความสูญเสียต่อประชาชนเหมือนเมื่อครั้ง กราดยิงโคราช หรือ กราดยิงหนองบัวลำภู แต่เรื่องราวเหล่านี้ ดูเหมือนจะถูกตั้งคำถามขึ้นว่า แนวโน้มผู้ก่อเหตุ ทำไมมักเป็นตำรวจ หรือ ทหาร ทั้งๆ ที่เหตุความรุนแรงจากการทำร้ายผู้อื่นด้วยอาวุธปืนในประเทศไทยไม่ได้มากเท่าประเทศอื่น
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตเห็นว่า เหตุกราดยิงน่าจะเกิดจากส่วนผสมของความเครียดสะสม ทำให้ส่วนใหญ่มีปัญหาทางจิต และการเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย คำถามจึงย้อนกลับไปที่มาตรฐานหน่วยงาน การป้องกัน และดูแลไม่ให้กำลังพลที่เผชิญสภาวะความเครียด ออกไปก่อเหตุอาชญากรรมกับผู้บริสุทธิ์ ทำไมยังแก้ไม่ได้
ย้อนเหตุการณ์เหตุกราดยิง
- 10 ก.พ. 2565 อดีตพลทหาร ยิงผู้โดยสารบนรถบัสสายภูเก็ต-พัทลุง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 คน ก่อนตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง บนรถคันเกิดเหตุ
- 2 สิงหาคม 2565 รองสารวัตร สภ.ไทรย้อย จ.พิษณุโลก ก่อเหตุยิงภรรยาเสียชีวิต ก่อนปลิดชีพตัวเองตาม พบป่วยซึมเศร้าและเคยคิดสั้นมาหลายครั้งแล้ว
- 18 สิงหาคม 2565 สิบโท มานิตย์ หรือ สห.วิทย์ ใช้อาวุธปืนสั้นขนาด 9 มม. จ่อยิง สิบตรี วัชระ อินาลา หรือ สห.เกิ้ล อายุ 29 ปี ตำแหน่งสารวัตรทหาร (สห.) สังกัดกองร้อยทหารสารวัตร มณฑลทหารบกที่ 210 เพื่อนรุ่นน้องค่ายเดียวกันจนเสียชีวิต ขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์หน้าทางเข้า-ออก ค่ายพระยอดเมืองขวาง โดยอ้างว่าเป็นปัญหาส่วนตัวไม่พอใจที่รุ่นน้องไม่เคารพ
- 14 กันยายน 2565 จ่าสิบเอก ยงยุทธ อายุ 59 ปี เสมียนวิทยาลัยการทัพบก กราดยิงเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 1 ราย เหตุเกิดภายในวิทยาลัยการทัพบก เขตดุสิต ทราบชื่อผู้ก่อเหตุคือ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและสารวัตรทหารได้ร่วมกันจับกุมตัวเอาไว้ได้ ทั้งนี้พบว่า ผู้ก่อเหตุเคยประสบอุบัติเหตุ มีอาการทางจิต โดยอยู่ระหว่างรักษาตัว
- 8 ตุลาคม 2565 เหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนทั้งโลก เมื่อ ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ อดีตตำรวจ ก่อเหตุบุกเข้าไปกราดยิง ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก ทั้งหมด 37 คน และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 10 คน โดย ส.ต.อ.ปัญญา ยิงตัวตาย พร้อมลูกและภรรยา ซึ่งมูลเหตุ เกิดจากความเครียด ที่ถูกไล่ออกจากราชการ จากพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
- 8 กุมภาพันธ์ 2563 อีกเหตุการณ์สุดสะเทือนขวัญ ที่หลายคนคงจำได้ไม่ลืม กับเหตุ "กราดยิงโคราช" กรณี "จ่าคลั่ง" จ.ส.อ.จักรพันธ์ (สงวนนามสกุล) ทหารสังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ คลั่งกราดยิงประชาชนในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ก่อนหลบหนีเข้าไปในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 นครราชสีมา จับคนในห้างเป็นตัวประกัน และยิงประชาชนเสียชีวิตรวม 31 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกเกือบ 60 คน ก่อนถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องราวที่ฝังใจคนไทยตลอดมา
ความเครียดกับอาชีพ
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ข้อมูลว่า "รากเหง้าปัญหา" ข้อมูลเบื้องต้นของพฤติกรรม "กราดยิง" (Active Shooter) มีพัฒนาจากอารมณ์การ "ฆ่าตัวตาย" กับ "ตัวเอง" ขึ้นเป็น "ฆาตกรรม" กับ "คู่กรณี" ยกระดับความรุนแรงไปสู่การ "กราดยิง" กับ "ผู้อื่น" ต้นเหตุเกิดจาก "ความเครียด-ภาวะกดดัน-อารมณ์ร้าย-ซึมเศร้า-ทนไม่ไหว" หาทางออกไม่ได้ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ควบคุมตัวเองและสติไม่ได้อีกต่อไป
รองต่อ บอกว่า ผลพวงจากปัญหารุมเร้าหลายด้าน ไล่ตั้งแต่ "สุขภาพกาย-สุขภาพจิต-ความยุติธรรม-ความเหลือมล้ำ-ปัญหาเศรษฐกิจ-การเงิน-สังคมและครอบครัว" ปัญหาทั้งหมด ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมมือร่วมแรงแก้ไขปัญหา จะปล่อยให้ตำรวจฉายเดี่ยว เป็นเจ้าภาพหน่วยเดียวคงไม่ได้ เพราะต้นตอรากเหง้าสารพัดปัญหา
นพ.ดร.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า เหตุกราดยิงในไทย มักจะพบเจอได้ในกลุ่มอาชีพที่ใกล้อาวุธ เช่น ทหาร และตำรวจ แน่นอนว่า อาชีพเองก็มีส่วนทำให้เกิดความเครียดจากการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น อาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง เช่น หมอ อาชีพด้านกฎหมาย และอีกหลายๆ อาชีพที่มีความคาดหวังจากสังคมสูง ก็จะทำให้ความเครียดสูงตามไปด้วย ขณะที่อาชีพที่มีกฎระเบียบสูงในองค์กร เช่น ทหาร ตำรวจ หรือนักกฎหมาย ถือเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูงเช่นกัน เพราะว่าต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่างๆ
ซ้ำซากแต่ไม่ได้รับการแก้ไข
"รองแต้ม" พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึก ว่า โดยปกติตำรวจ จะมีการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่แล้ว แต่เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไป ไม่ได้ตรวจสุขภาพจิต ในความเป็นจริงควรกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพจิตด้วย เพราะด้วยอาชีพ ตำรวจมีความเครียดสูง ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยออกคำสั่งให้มีการตรวจจิตเวช เหมือนตรวจสุขภาพประจำปี
"พนักงานสอบสวนยิงตัวตายเยอะ พอทำแล้วไม่มีความดีความชอบ ก็จะซึมเศร้า ปล่อยเนื้อปล่อยตัว การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ก็ทำให้เกิดความเครียด แต่สมัยก่อนผู้บังคับบัญชาจะประชุมทุกเดือน มีการพูดคุย นายเค้าก็จะแก้ไข จะรู้ปัญหา แต่เดี๋ยวนี้ประชุมแต่ออนไลน์ แต่ความรู้สึกมันไม่ได้" รองแต้มบอกกับคมชัดลึก
จากบทความทั้งหมดนี้ ไม่ได้จำเพาะเจาะจง พุ่งเป้าว่าเป็น ตำรวจ หรือ ทหาร ที่มักก่อเหตุกราดยิง แต่จะเห็นว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาที่เป็นบ่อเกิดของการก่อเหตุอาชญากรรม คือ โรคซึมเศร้า ซึ่งสอดรับกับอาชีพที่มีความเครียดสูง แต่ยังไม่ได้รับการปฎิรูป ปัดกวาด อย่างวงการตำรวจ และทหาร ที่ซุกอยู่ใต้พรม