ยกฟ้อง 'บอร์ดทอท.' ปมแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี ชี้ 'ชาญชัย' ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลอาญาคดีทุจริต พิพากษายกฟ้องคดีที่ 'ชาญชัย' ฟ้อง 'บอร์ดทอท.' คดี 157 กรณีมีมติแก้ไขสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี ชี้โจทก์ไมใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 66) ศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท 46/2564 ที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ โจทก์ฟ้อง นายประสงค์ พูนธเนศ ที่ 1 กับพวกรวม 14 คน 'บอร์ดทอท.' เป็นจำเลย ข้อหาพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดฯ
โจทก์ฟ้องว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นใน ทอท. จำเลย ทั้งสิบสี่เป็นคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาสยานไทย จำกัด (มหาชน) วันเวลาตามฟ้องจำเลยทั้งสิบสี่ดำเนิน การมีมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีผลให้เป็นการแก้ไขสัญญาที่ ทำไว้กับบริษัทเอกชนรวม 5 สัญญา โดยลดผลประโยชน์ที่ ทอท. จะได้รับจากสัญญาที่ทำไว้เดิม ทำให้ ทอท. รวมทั้งโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษพวกจำเลยตามความผิด
ศาลพิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้ สำหรับความผิดของจำเลยทั้งสิบสี่ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 นั้น ความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีองค์ประกอบของการกระทำความผิดสองลักษณะ
ประการแรก จำเลยผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นตัวอย่างของการกระทำความผิดทางอาญาที่อาจมีผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมได้ เนื่องจากอาจมีพฤติการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งต่อความเสียหายของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ และบุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากเจตนาพิเศษดังกล่าวของจำเลยย่อมเป็นผู้เสียหายตาม และมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้
ประการที่สอง จำเลยผู้กระทำต้องมีเจตนาโดยทุจริต หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการกระทำความผิดทางอาญาที่ไม่มีเหยื่ออาชญากรรมหรือผู้เสียหาย ซึ่งถือว่ารัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนั้นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวในส่วนที่ถือว่ารัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายได้
ส่วนกรณีการกระทำความผิดที่มีองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติที่อาจมีผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมได้นั้น เมื่อทางไต่สวนไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสิบสี่กระทำการตามที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยมีเจตนามุ่งหมายกลั่นแกล้งโจทก์เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก็โดยตรงหรือโดยเฉพาะเจาะจงอย่างไร โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ มิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) โจทก์จึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิดต่อพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โจทก์บรรยายฟ้องโดยใช้สิทธิฟ้องคดีในฐานะผู้ถือหุ้นใน ทอท. ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและใช้สิทธิเรียกร้องแทนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมหาชนในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว กรณีบุคคลใดจะอ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานใด ย่อมต้องพิจารณาว่าบุคคลนั้นได้รับความเสียหายหรือถูกกระทบต่อสิทธิของตนเพียงใด ความเสียหายที่เกิดแก่สิทธิที่อ้างว่าถูกกระทบนั้นสิทธิดังกล่าวมีขึ้นตามบทบัญญัติกฎหมายใด เป็นการใช้สิทธิโดยอ้างสถานะใดในทางกฎหมาย และมีข้อจำกัดสิทธินั้นๆ ตามกฎหมายหรือไม่
ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ยกขึ้นอ้างหาได้วินิจฉัยถึงเงื่อนไขการฟ้องคดีอันเป็นข้อเท็จจริงในคดีนี้ ซึ่งต้องพิจารณาต่อไปว่า เมื่อการใช้สิทธิของโจทก์เกิดขึ้นในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้น มิใช่บุคคลทั่วไป โจทก์จึงย่อมมีสิทธิและข้อจำกัดสิทธิภายใต้บังคับของกฎหมายเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นนั้นๆ กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่า สิทธิของโจทก์ถูกกระทบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ กล่าวคือ สิทธิของโจทก์อันเกิดขึ้นเนื่องจากโจทก็มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นถูกกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือไม่
ทั้งนี้ สถานะของโจทก็ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นเกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งโดยทั่วไป นอกจากมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ในหุ้นหรือเงินปันผล ผู้ถือหุ้นในฐานะหุ้นส่วนในบริษัทยังมีภาระหรือต้องยอมรับในกรณีที่สิทธิหรือผลประโยชน์ที่จะได้รับดังกล่าวต้องถูกกระทบหรือที่ต้องเสียไปเนื่องจากการบริหารงานหรือการดำเนินนโยบายของกรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารหรือดำเนินนโยบายนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังถูกจำกัดสิทธิบางประการที่กำหนดให้ผู้ถือหุ้นจำต้องดำเนินการตามกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติไว้หากจะใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับผลประโยชน์หรือสิทธิที่ต้องเสียไป
สิทธิอันเกิดขึ้นหรือมีขึ้นเนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้น จึงยังไม่ถือว่าได้รับผลกระทบโดยตรงจากการดำเนินการของกรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารของบริษัท เนื่องจากจำต้องยอมรับในความเสียหายหรือสิทธิและผลประโยชน์ที่เสียไปอันเกิดจากการบริหารหรือดำเนินนโยบายของบริษัท โดยจะถือว่าผู้ถือหุ้นนั้นถูกกระทบกระเทือนสิทธิอันเกิดขึ้นจากการมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นนั้นๆ จนเกิดความเสียหายก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการตามกระบวนการจำกัดสิทธินั้นจนครบถ้วนแล้วตามกฎหมาย
เมื่อ ทอท. เป็นบริษัทมหาชนจำกัดและเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งได้กำหนดผู้มีอำนาจบริหารบริษัท กระบวนการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นในการบริหารบริษัทไว้เพื่อให้การบริหารจัดการบริษัทเป็นไปโดยเรียบร้อย มิให้การดำเนินการของผู้ถือหุ้นแต่ละรายก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายอื่นโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งเป็นข้อจำกัดสิทธิของโจทก์ผู้ถือหุ้น เพราะกฎหมายมีเจตนารมณ์ไม่ต้องการให้ผู้ถือหุ้นเข้าไปก้าวล่วงจัดการเกี่ยวกับธุรกิจปกติของบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นที่จะใช้สิทธิเรียกร้องจึงยังไม่เกิดขึ้นตามข้อจำกัดสิทธิของโจทก์ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายยังไม่ถูกกระทบยังไม่ได้รับความเสียหายตามกฎหมาย โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่จะมีอำนาจฟ้องแทน ทอท. ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ ประกอบกับเมื่อพิจารณาแล้วการดำเนินการของจำเลยทั้งสิบสี่ตามฟ้อง มิใช่การดำเนินการอันเข้าบทนิยามตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่ต้องดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไป ดังนั้น การที่ไม่ปรากฎการดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่การอันมิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด
สำหรับการฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 ได้ความจากหนังสือชี้แจงของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและคำเบิกความพยานศาลว่าการดำเนินการของจำเลยทั้งสิบสี่ตามฟ้องโจทก์ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 พร้อมตัวอย่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดการสูญเสียร้ายได้ แต่ไม่เข้าเงื่อนไขที่จำต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามกฎหมายและประกาศดังกล่าว
นอกจากนี้จากทางไต่สวนไม่ปรากฎว่า การดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ดังกล่าวที่โจทก์ยกขึ้นอ้างตามฟ้องมีการแปลความหรือแจ้งเวียนเผยแพร่แนวทางปฏิบัติอย่างชัดแจ้งให้เห็นได้ดังที่โจทก์ยกขึ้นอ้างแปลความ อันจะบ่งชี้แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสิบสี่ได้ทราบแล้วจงใจไม่ปฏิบัติหรือมีเจตนาปฏิบัติดำเนินการให้ฝ่าฝืนหรือให้ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสิบสี่ มิได้ดำเนินการดังที่โจทก์อ้างจึงฟังได้เพียงว่าเป็นการดำเนินการที่แตกต่างหรือไม่ปฏิบัติตามกระบวนการที่สอดคล้องกับความเห็นของโจทก์เท่านั้น
ทั้งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสิบสี่ได้รับประโยชน์อื่นใดที่มิควรได้โดยชอบแต่อย่างใด กรณีจึงไมใช่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และไม่มีผลให้ฟังได้ว่าเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 หรือความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
ส่วนปัญหาที่ว่าเงินรายได้ของ ทอท. ทั้งหมดที่ได้รับมาถือเป็นรายได้ของรัฐหรือไม่ การที่ ทอท. แก้ไขสัญญากับเอกชนและการออกมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผลกระทบของวิกฤติการณ์สถานะการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการกระทำให้รัฐสูญเสียรายได้หรือไม่ และเป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นไรก็ตาม เมื่อโจทก็ไมใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบสี่เป็นคดีนี้ คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง