'ตะวัน-แบม' กับเส้นทางการต่อสู้ 57 วัน เดิมพันชีวิต แลกการเปลี่ยนแปลง
ย้อนเส้นทางการต่อสู้ 2 นักเคลื่อนไหว 'ตะวัน-แบม' กับ 57 วัน อดอาหาร เดิมพันชีวิต เพื่อแลกการเปลี่ยนแปลง บทสรุปเป็นอย่างไร
ชื่อของ "ตะวัน-แบม" สองนักกิจกรรมอิสระ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการอดอาหาร เดิมพันชีวิต เพื่อแลกอิสรภาพ และข้อเรียกร้อง กินเวลายาวนานเกือบ 2 เดือน จนร่างกายอ่อนแอถึงขีดสุด จนแทบจะเข้าเงื่อนไข เดิมพันด้วยชีวิต แต่ในที่สุด "ตะวัน-แบม" ตัดสินใจเลิกอดอาหารและจะรับการรักษา เพื่อเอาชีวิตไปสู้ต่อ เนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบรับจากศาล
คมชัดลึก สรุปเส้นทางของการต่อสู้ ของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ "ตะวัน" และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ "แบม" ทำไมเธอทั้งสองคน ถึงต้องเดิมพันชีวิต เพื่อแลกกับชีวิตคนอื่น และเป็นไปได้แค่ไหน ที่ข้อเสนอของเธอจะถูกตอบรับ
1. "ตะวัน" ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ อายุ 21 ปี เข้าร่วมม็อบนักศึกษา โดยอยู่ในกลุ่ม We Volunteer และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง "กลุ่มทะลุวัง" แต่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 เมื่อเธอไลฟ์เฟซบุ๊กวิจารณ์การจัดขบวนเสด็จ ทำให้มีผลกระทบกับกลุ่มผู้ชุมนุม บริเวณหน้า UN โดยวันนั้นเธอถูกควบคุมไว้ที่สโมสรตำรวจเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน และถูกแจ้งข้อหา ม.112 และ ม.116 ก่อนจะได้รับการประกันตัว
2. เธอได้รับการประกันตัว พร้อมเงื่อนไข 4 ข้อ คือ ห้ามทำกิจกรรม หรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ,ห้ามโพสต์เชิญชวน ปลุกปั่น ยั่วยุ ชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมในสื่อโซเชียลมีเดีย หรือร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง , ห้ามเดินทางออกจากราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และ ให้ติดอุปกรณ์กำไล EM
3. ส่วน "แบม" เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสม่ำเสมอ มาตั้งแต่ปี 2563 แบมถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 จำนวนหนึ่งคดี เนื่องจากการทำโพลสติ๊กเกอร์บริเวณหน้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่
4. วันที่ 20 เมษายน 2565 ตำรวจสถานีนางเลิ้งแจ้งว่า ตะวันโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวราว 10 ครั้ง ในลักษณะพาดพิงถึงสถาบัน และพยายามเข้าไปใกล้กับพื้นที่ขบวนเสด็จอีก 1 ครั้ง โดยใส่เสื้อผ้าสีดำ จึงเรียกร้องต่อศาลให้ เพิกถอนประกัน และส่งตะวันเข้าไปอยู่ในคุก หลังการพิจารณา ศาลตัดสินใจถอนประกันจริงๆ และส่งตะวันเข้าเรือนจำทันที
5. เมื่อเข้าเรือนจำ ตะวันต่อสู้ด้วยการอดอาหาร เป็นเวลา 37 วัน ดื่มเพียงแต่นม จนร่างกายอ่อนล้าเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตัดสินใจใช้ตำแหน่ง สส.นัดศาลอาญา เพื่อขอประกันตัว ออกมาจากเรือนจำ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 โดยศาลเพิ่มเงื่อนไขอีก 1 ข้อ คือห้าม เธอออกนอกบ้าน ยกเว้นแต่กรณีที่เจ็บป่วย หรือได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น
6. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 "ตะวัน" ไปเดินชูป้ายคัดค้านงานประชุม APEC 2022 และนโยบายจีนเดียวที่หน้าโรงแรมสยามเคมปินสกี้ ทำให้มีผู้มาร้องว่า เธอทำผิดเงื่อนไขประกันตัว ในข้อที่ว่าห้ามออกจากบ้าน และ ห้ามทำกิจกรรมที่สร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองทั้งคู่ยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
7. วันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลอาญานัดไต่สวน ว่าจะถอนประกันเธอดีหรือไม่ แต่ด้วยความไม่พร้อมด้านเอกสาร ทำให้ศาลเลื่อนนัด เรื่องการถอนประกัน ไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2566 แทน
8. วันที่ 16 มกราคม 2566 ชื่อของ "ตะวัน-แบม" กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อทั้งสองคน เดินทางมาที่ศาลอาญา เพื่อยื่นถอนประกันตัวเอง โดยระบุว่า เป็นการ "แลกอิสรภาพจอมปลอม เพื่ออิสรภาพที่แท้จริง" ด้วยการใช้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของตัวเอง เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องขังการเมืองทุกคน โดยยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- ยุติการดำเนินความคดีกับประชาชน ที่ใช้สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความเห็น การชุมนุม และแสดงออกทางการเมือง
- พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องเสนอนโยบายยกเลิก ม.112 และ ม.116
โดยไฮไลท์ที่เป็นที่จดจำ คือการเทสีแดง ในลักษณะคล้ายเลือด ลงบนศรีษะของตัวเอง พร้อมประกาศว่า "เราจะไม่ยื่นประกันตัวเอง จนกว่าเพื่อนเราจะได้สิทธิประกันตัว"
9. แต่เมื่อข้อเรียกร้องไม่เป็นผล "ตะวัน-แบม" จึงยกระดับด้วยการ "อดอาหารและน้ำ" เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566 หลังจากผ่านไป 2 วัน ตะวันมีอาการอ่อนเพลีย ส่วน แบม มีอาการปวดท้อง แพทย์แนะนำ ให้ยา และน้ำ ทางหลอดเลือด แต่ทั้งคู่ปฏิเสธ และยืนยันว่าจะอดอาหารและน้ำต่อไป
10. อาการของ "ตะวัน-แบม" ทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด จนทั้งสองถูกส่งตัวไปที่ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะอนุญาตให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตามคำขอ
11. วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 "ตะวัน-แบม" อดอาหารมาเป็นเวลา 21 วันสภาพร่างกายอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ จึงแจ้งศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้ปล่อยตัวทั้งคู่ เพราะถ้าคุมตัวต่อไปก็อาจเสียชีวิตได้ในเรือนจำ หรือในโรงพยาบาล เพราะเกรงว่า ไตและอวัยวะอื่น จะได้รับผลกระทบ
ศาลอาญาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยมีร่างกายที่อ่อนแอเกินกว่า จะสร้างความเสียหายใดๆ ใหม่ได้ ศาลจึงกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว "ตะวัน" 1 เดือน และให้แบม แบบไม่มีกำหนด แต่ทั้งสองคน ยังเดินหน้าอดอาหารต่อไป โดยปฏิเสธการรับน้ำเกลือ และยืนยันว่า จะไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารใดๆ เกี่ยวกับการปล่อยตัวครั้งนี้เด็ดขาด
12. วันที่ 11 มีนาคม 2566 "ตะวัน-แบม" ออกแถลงการณ์ ยุติการอดอาหาร และจะรับการรักษา เพื่อเอาชีวิตไปสู้ต่อ เนื่องจากยังไม่ได้รับการตอบรับจากศาล ขณะนี้ทั้ง 2 คน สามารถตอบโต้ได้ และแม้จะพ้นขีดอันตรายต่อชีวิตแล้ว แต่คาดว่า ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ
อย่างไรก็ตาม การเลิกอดอาหารของทั้งคู่ ถูกตั้งคำถามว่า มีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร ในช่วงไทม์ไลน์ ใกล้เลือกตั้ง 2566