ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.ก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ระบุโทษหนัก 2-5 ปี เปิดบัญชีม้า ขัง 3 ปี ธนาคารเจอธุรกรรมน่าสงสัยสั่งระงับทันที
เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ทางเทคโนโลยี
พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงจนสูญเสียไปซึ่งทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่ละวันมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมาก และมีมูลค่าความเสียหายสูงมาก สมควรมีมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการตราพระราชกำหนดนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ”
มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชกำหนดนี้ “อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หมายความว่า การกระทำหรือพยายามกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ “สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะ จัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน “ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน
มาตรา 4 เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า มีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ
มีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องในระหว่าง สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจนั้นผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นชอบร่วมกัน เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการ ที่เกี่ยวข้องระหว่างกันผ่านระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เห็นชอบร่วมกัน
เมื่อมีการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองแล้ว ให้ผู้เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วแต่กรณี และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทราบโดยทันที และเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้วแต่กรณี มีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรม ทางเทคโนโลยีได้