ศาลปค.สูงสุด ยืนตามชั้นต้นทุเลาบังคับคดีให้ 'ชัยวัฒน์' กลับรับราชการ
ศาลปกครองสูงสุดยืนตามชั้นต้น ทุเลาบังคับคดีให้ "ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" กลับเข้ารับราชการไว้ก่อน หลังกระทรวงทรัพย์ฯ เคยมีคำสั่งปลดออก คดีเผาทรัพย์สินชาวบ้านบางกลอย
17 มี.ค.2566 มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ลงโทษปลด นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกจากราชการ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
กรณีนายชัยวัฒน์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งกระจาน
โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด มิใช่การมีมติชี้มูลความผิด ที่เกี่ยวกับการกระทำทุจริตในภาครัฐ จึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 น่าจะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ฟ้องคดีในความผิดฐานดังกล่าว
และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ข้างต้น ย่อมไม่ผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็น ผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี ที่จะพิจารณาโทษทางวินัยและถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการ สอบสวนวินัย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ในความผิด ทางวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหาย อย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด โดยมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนผู้ฟ้องคดีและมิได้แจ้ง ข้อกล่าวหาดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีทราบ คำสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามฐาน ความผิดดังกล่าว จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
- การให้คำสั่งพิพาทดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง หรือไม่
ศาลเห็นว่า การมีคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการย่อมมีผลให้ผู้ฟ้องคดีต้องพ้นจากการ เป็นข้าราชการสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งนอกจากผู้ฟ้องคดีจะได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการไม่ได้รับเงินเดือน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการต่าง ๆ ตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ในฐานะ ข้าราชการพลเรือนแล้ว ผู้ฟ้องคดียังต้องขาดโอกาสและความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งขณะยื่นคำฟ้องนี้ ผู้ฟ้องคดียังเหลือระยะเวลารับราชการได้อีกไม่เกิน 2 ปี เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 ว่า ภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2ได้มีคำสั่งที่ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก ระดับสูงสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์แทนผู้ฟ้องคดี ซึ่งหากศาลได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่พิพาทในภายหลัง ผู้ฟ้องคดีอาจไม่มีโอกาสได้กลับเข้ารับ ราชการในตำแหน่งเดิม
- ส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอุทธรณ์ในประเด็น ผู้ฟ้องคดีสามารถใช้สิทธิ เรียกร้องค่าเสียหายจากคำสั่งพิพาทได้นั้น
ศาลเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีมิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากการมีคำสั่งดังกล่าว แม้ว่าในภายหลัง ผู้ฟ้องคดีจะได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาด้วยก็ตาม แต่การฟ้องเรียกค่าเสียหายย่อมไม่อาจที่จะทดแทนความเสียหายต่อสถานภาพ แห่งสิทธิและหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้ได้ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามในประเด็นนี้ จึงฟังไม่ขึ้น จึงเห็นได้ว่า การให้คำสั่งพิพาทมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความ เสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดีที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง
- กรณีการทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาท เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ หรือไม่
ศาลเห็นว่า การทุเลา การบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทมีผลเพียงให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลเท่านั้น นอกจากนี้ การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ถือเป็นมาตรการทางกฎหมายในการช่วยบรรเทาหรือยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แก่ผู้ฟ้องคดีที่หากแม้ต่อมาศาลปกครองจะมีคำพิพากษาว่าคำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบ ด้วยกฎหมายก็เป็นการยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลัง
ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว จึงเป็นเพียงวิธีการชั่วคราวก่อนการ พิพากษาเท่านั้น อีกทั้ง ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ปรากฏว่า หลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นายสุเทพ เกตุเวชสุริยา ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 แทนผู้ฟ้องคดี ปัจจุบันนายสุเทพได้เกษียณอายุราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้ฟ้องคดีไปดำรง ตำแหน่งข้างต้น กรณีจึงยังไม่อาจถือได้ว่า คำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาท ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องดูแลผืนป่าแต่อย่างใด การที่ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่ง ทางปกครองที่พิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ในกรณีนี้ จึงยังไม่อาจฟังได้ว่ามีผลกระทบต่อการ บริหารงานของรัฐหรือการบริการสาธารณะ เมื่อคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทของผู้ฟ้องคดี เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทั้งสามประการแล้ว กรณีจึงมีเหตุผลอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่ง ให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่พิพาทไว้เป็นการชั่วคราว
คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้นชอบด้วยหลักเกณฑ์ ตามกฎหมาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนการพิพากษา จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น ศาลปกครองสูงสุด เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น และมีคำสั่งยกคำขอของ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ขอให้ระงับคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของศาลปกครองชั้นต้น ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์