'เงินบริจาค' แบบไหน เข้าข่าย ความผิดฐานฟอกเงิน
ประเด็น 'เงินบริจาค' ของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กลายเป็นประเด็นคำถาม เช็กเงื่อนไข แบบไหน เข้าข่าย ความผิดฐานฟอกเงิน
กำลังเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อน ภายหลัง 'ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์' ยอมรับว่า นำเงินจำนวน 6 ล้านบาท ที่ได้มาจาก 'สารวัตรซัว' ตามที่ 'ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด' ออกมาแฉ ไปบริจาคให้โรงพยาบาลสองแห่ง แห่งละ 3 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด โรงพยาบาลศิริราช แถลงข่าวขอคืนเงินบริจาค 3 ล้านบาทให้ 'ชูวิทย์' หลังทราบว่าไม่ใช่เงินของเจ้าตัว และมีส่วนเกี่ยวข้องธุรกิจผิดกฎหมาย ซึ่งอาจมีความผิดได้
หากพูดถึง 'การบริจาค' นับเป็นเรื่องปกติ ที่ใครก็สามารถที่จะบริจาคเงิน หรือสิ่งของ ให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้ ตามที่ พ.ร.บ. ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487 กำหนด แต่หากเป็นเงิน หรือ สิ่งของ ที่ผิดกฎหมาย แล้วนำไปบริจาคนั้น ผู้รับมีความผิดด้วยหรือไม่ กฎหมายกำหนดไว้อย่างไรบ้าง กับการรับบริจาคเงิน ที่มาอย่างผิดกฎหมาย
รณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ ให้ข้อมูลกับ คมชัดลึก ว่า กรณีเงินบริจาคของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หากตรวจสอบพบเส้นทางการได้มาของเงิน เป็นเงินที่มาจากการกระทำความผิด ข้อหาอะไร เช่น หากเป็นความคิดเกี่ยวกับการพนัน ก็จะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน เพราะมีเงินหมุนเวียนเกินกว่า 5 ล้านบาท กับ ประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการรับของโจร ซึ่งหากอยู่ที่ใคร คนนั้นก็จะมีโทษตามกฎหมาย เรียกว่ามีความผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. ตรวจสอบก่อน
ทนายรณรงค์ บอกว่า ส่วนการที่โรงพยาบาลศิริราช นำเงินบริจาคคืนนั้น เนื่องจากชูวิทย์ ยอมรับว่า เงินจำนวน 3 ล้านบาท เป็นเงินที่รับมาจากสารวัตรซัว ซึ่งเป็นคดีที่ตำรวจกำลังติดตามอยู่ หากมีเงินจำนวนนี้อยู่ในครอบครอง ก็อาจมีความผิดได้ แต่เงื่อนไขของการรับเงินบริจาค ในความเป็นจริงแล้ว สามารถทำได้ตามปกติ หากไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงการกระทำความผิด แต่หากมีหลักฐาน ชัดเจน ทุกคนมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งคนมอบ และ คนรับ
ฟอกเงิน คืออะไร
ฟอกเงิน หรือ Money Laundering คือการนำเงิน หรือทรัพย์สิน ที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาเปลี่ยนสภาพให้เป็นเงิน หรือทรัพย์สิน ที่ได้มาอย่างถูกต้อง หรือเรียกได้ว่า กระบวนการทำเงินสกปรก ให้กลายเป็นเงินสะอาด จนสามารถเอาไปใช้ได้ โดยที่ไม่ถูกตรวจสอบ หรือถูกจับ เลยใช้คำว่า "ฟอก" นั่นเอง
ความผิดมูลฐานที่เข้าข่ายกฎหมาย "ฟอกเงิน"
- ค้ายาเสพติด
- ค้ามนุษย์ ค้าหญิงและเด็ก
- ฉ้อโกงประชาชน
- ยักยอกฉ้อโกงโดยผู้จัดการ
- ความผิดต่อหน้าที่ราชการ
- กรรโชก รีดเอาทรัพย์
- หลบหนีศุลกากร
- การก่อการร้าย
- การพนัน
- การเลือกตั้ง
- ปลอมแปลงเงินตราฯ ลักษณะเป็นการค้า
- รับของโจรลักษณะเป็นการค้า
- องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
- อั้งยี่/องค์กรอาชญากรรม
- ประทุษร้ายร่างกายสาหัส เพื่อประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน
- ทรัพยากรธรรมชาติลักษณะเป็นการค้า
- ปลอมเอกสารสิทธิ์ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ พาสปอร์ตเป็นปกติ ธุระเพื่อการค้า
- ความผิดเกี่ยวกับการค้าและทรัพย์สินทางปัญญา
- หน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อเรียกรับผลประโยชน์
- ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงปล้นฯ มีลักษณะเป็นการค้า
- โจรสลัด
- ซื้อขายหลักทรัพย์
- ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ
- สนับสนุนทางการเงินแก่ก่อการร้าย
- สนับสนุนการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูง
- ความผิดเกี่ยวกับหลบเลี่ยงภาษี
- จูงใจให้สมัครถอนการสมัคร สส./สว.
- บังคับใช้แรงงานหรือบริการ เป็นเหตุให้เป็นอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย
ความผิดฟอกเงิน
ผู้กระทำผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แยกเป็นดังนี้
- ความผิดฟอกเงิน มาตรา 5 จำคุก 1-10 ปี หรือปรับ 20,000-200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
- สนับสนุน ช่วยเหลือ จัดหา หรือให้ทรัพย์สินฯ ในการฟอกเงิน มาตรา 7 ระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการ
- พยายามกระทำความผิด มาตรา 8 ระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ
- สมคบในการกระทำความผิด มาตรา 9 รับโทษกึ่งหนึ่ง
สรุป
ดังนั้น หากมองจากตัว พ.ร.บ.ฟอกเงิน หากเงินจำนวนดังกล่าว ได้มาจากการพนัน เข้าข่ายความผิดฟอกเงินชัดเจน ซึ่งกรณี ปมเงินบริจาคที่เกิดขึ้น อยู่ในฐานความผิด สนับสนุน ช่วยเหลือ จัดหา หรือให้ทรัพย์สินฯ ในการฟอกเงิน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ