ข่าว

'อัจฉริยะ'ร้อง ปปง.ตั้งกรรมการสอบวินัย 'พล.ต.ต.เอกรักษ์ '

'อัจฉริยะ'ร้อง ปปง.ตั้งกรรมการสอบวินัย 'พล.ต.ต.เอกรักษ์ '

07 เม.ย. 2566

อัจฉริยะ” ร้อง ปปง. ตั้งกรรมการสอบวินัย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. ระบุข้อร้องเรียน 3 เรื่อง ท้าให้ลาออกมาต่อสู้คดี ด้าน รอง โฆษก ปปง.แจงเรื่องบางส่วน เกิดขึ้นในช่วงที่ยังไม่ได้มาดำรงตำแหน่ง ต้องขอเวลาตรวจสอบ

ความคืบหน้ากรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. ที่เกี่ยวข้องกับการนำรถหรูของพ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ไปขาย รวมทั้งพัวพันเว็บพนันออนไลน์ 

นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง.
ล่าสุด นายอัจฉริยะ เดินทางไปที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อยื่นเรื่องขอให้มีการตั้งกรรมการสอบวินัย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการ ปปง. จากกรณีต่างๆ ที่เจ้าตัวได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อนหน้านี้

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ตนได้ร้องเรียนให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัย พล.ต.ต.เอกรักษ์ ใน 3 กรณี คือ
1.ตรวจสอบเรื่องการฟอกเงิน ร่วมกับภรรยา โดยมีการไปเกี่ยวพันกับเว็บพนันออนไลน์ คิงพิน 88 ที่มีหลักฐานเป็นสลิปโอนเงินจากเจ้าของเว็บ น่าเชื่อได้ว่าเป็นการให้สินบน ซึ่งต้องการให้ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ชี้แจงให้ได้ว่า เงินจำนวนนี้เป็นค่าอะไร
2.เรื่องการไปมีส่วนร่วมกับขบวนการลักรถยนต์ของ อดีตผู้กำกับโจ้ ไปขาย รวมถึงปลอมแปลงเอกสาร
3.เรื่องที่ไปเกี่ยวพันกับถุงเงิน 6 ล้านบาท ที่นำไปมอบให้ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งแม้จะยังไม่ชัดเจนว่า ได้นำไปให้เองหรือไม่ แต่การที่ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ไปพัวพันรู้จักกับ สัก พระราม 3 ซึ่งเป็นเจ้าของบ่อน และเว็บพนันออนไลน์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
 

นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ตนต้องการให้ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลาออกจากตำแหน่ง รองเลขาธิการ ปปง. เพื่อความสุจริต แล้วมาสู้คดีตามกฎหมาย และแม้เรื่องที่ตนร้องเรียนบางส่วนจะเกิดขึ้นก่อนที่ พล.ต.ต.เอกรักษ์ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ สำนักงาน ปปง. แต่ด้วยตำแหน่งที่ดำรงอยู่ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องการฟอกเงินโดยตรงนั้น การที่มีประวัติไม่เหมาะสม ก็เชื่อได้ว่าอาจมีการนำตำแหน่งหน้าที่ไปหาผลประโยชน์ได้ 

อีกทั้งระเบียบข้าราชการพลเรือน ก็ระบุว่า หากเจ้าพนักงานต้องคดีอาญา หรือถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหากต่อสู้คดีแล้วพบว่าบริสุทธิ์ ก็สามารถกลับมาปฏิบัติงาน และใช้สิทธิฟ้องร้องผู้ที่ร้องเรียนได้

นอกจากนี้ นายอัจฉริยะ ยืนยันว่า ตนมั่นใจในการทำงานของ คณะกรรมการ ปปง. ว่าจะทำอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งสำคัญ ก็ต้องขึ้นอยู่กับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี ด้วยว่า จะมีการปราบปรามการทุจริตของข้าราชการอย่างจริงจังหรือไม่
 

ด้าน นางสาวสุปราณี สถิตชัยเจริญ รองโฆษกสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กล่าวว่า วันนี้จะรับเรื่องเอาไว้ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามหลักการ และระเบียบของสำนักงาน ปปง. แต่จะใช้เวลาเท่าไหร่ต้องขอตรวจสอบข้อมูล และพิจารณาอีกครั้ง และยืนยันว่าดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาแน่นอน  ทั้งนี้ หลังมีประเด็นเกิดขึ้น พล.ต.ต.เอกรักษ์ ยังมาปฏิบัติราชการตามปกติ และเรื่องบางส่วนก็อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ยังไม่ได้มาดำรงตำแหน่งที่ สำนักงาน ปปง. ด้วย จึงต้องขอตรวจสอบก่อน