เปิดข้อกฎหมาย 'ประหารชีวิต' ยกเว้น หญิงตั้งครรภ์
อัยการอาวุโส ระบุ คดี 'แอม ไซยาไนด์' ไม่เข้าข่ายป่วยจิตเวช ชี้ขับรถได้ มีการไต่ตรองไว้ก่อน เผย กฎหมายห้าม ประหารชีวิต หญิงตั้งครรภ์ ละเว้นจนกว่าจะคลอด ก่อนปรับเป็นจำคุกตลอดชีวิต
เหตุการณ์ ฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่มีการจับกุม น.ส.แอม ที่ใช้วิธีการวางยาเหยื่อ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า น.ส.แอม กำลังตั้งครรภ์ มีอายุครรภ์ 3 เดือน ซึ่งความผิดในฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนานั้น โทษสูงสุดคือการประหารชีวิต แต่กรณีหญิงตั้งครรภ์อาจจะมีการลดหย่อนโทษลง รวมทั้งที่มีการตรวจสอบพบข้อมูลว่า น.ส.แอมมีการรักษาอาการทางจิตเวชด้วยนั้น
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่อข้อกฎหมายที่กำลังพูดถึงในคดีนี้ว่า ในเรื่องของการป่วยทางจิตจนทำให้มีการก่อเหตุนั้น ไม่มีความเป็นไปได้ เนื่องจากพฤติการการก่อเหตุ
ภาพจากกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ ในกรณี น.ส.ก้อย ที่ท่าน้ำ ดูไม่น่าเชื่อถือ เพราะหากจะช่วยเหลือเพื่อน ทำไมถึงเก็บโทรศัพท์มือถือผู้ตายขึ้นมาเท่านั้น พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เชื่อว่ามีการไตร่ตรองเอาไว้แล้ว รวมทั้ง ยังสามารถขับรถยนต์ได้ สิ่งที่ผู้ก่อเหตุทำเป็นรูปแบบที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
ในกรณีท้องนั้น นายปรเมศวร์ กล่าวว่า ในคดีนี้ให้มองที่พฤติการณ์เป็นหลัก โทษคือประหารชีวิต แต่ทั้งนี้ มีการระบุในกฎหมายไว้ว่า ห้ามไม่ให้มีการประหารชีวิตหญิงตั้งครรภ์ ต้องรอจนกว่าจะคลอด หลังจากนั้นต้องละเว้นโทษไว้ 3 ปี จากนั้น ก็จะต้องใช้หลักสิทธิเด็กเกิด ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต แม้จะมีการตั้งคำถามจากสังคมว่า จะกลายเป็นความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียชีวิตหรือไม่ แต่ก็ต้องยึดตามข้อกฎหมายที่มีระบุไว้ใน ป.วิ อาญา มาตรา 247 วรรค 2