ข่าว

เตรียมแจ้งเอาผิด 'แอม ไซยาไนด์' - ดาราสาว นำ 'ไซยาไนด์' ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

เตรียมแจ้งเอาผิด 'แอม ไซยาไนด์' - ดาราสาว นำ 'ไซยาไนด์' ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

08 พ.ค. 2566

กรมโรงงานฯ เตรียมแจ้งความเอาผิด 'แอม ไซยาไนด์' - ดาราสาว ครอบครอง-นำ 'ไซยาไนด์' ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ยืนยัน ไม่ได้บกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังจากเข้าให้ข้อมูลกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในประเด็น รายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า 'ไซยาไนด์' ทั้งวัตถุประสงค์ของการนำเข้าและนำไปใช้ และการครอบครอง  

 

 

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ควบคุมการนำเข้า สารไซยาไนด์ จากต่างประเทศ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขอนำเข้า เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและงานศึกษาวิจัย โดยยอมรับว่า มีผู้ใช้รายย่อยประมาณ 2,000 ราย เช่น การใช้ในร้านทองด้วย ซึ่งส่วนนี้ทางบริษัทนำเข้าที่ได้รับขออนุญาตจะเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เอง ซึ่งยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่

 

ส่วนในกรณีคดีของ 'แอม ไซยาไนด์' ผู้ต้องหาที่นำสารไซยาไนด์ไปใช้ฆ่าวางยา และกรณีที่ผู้สั่งซื้อเพื่อวัตถุประสงค์นำไปใช้วางยาฆ่าสัตว์เลื้อยคลาน ถือเป็นการใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งทางกรมโรงงานฯในฐานะผู้เสียหาย จะต้องเดินทางไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

 

ทั้งนี้กรณีผู้ใช้รายย่อย ที่ไม่ต้องมีการขออนุญาตครอบครอง หากในรอบหกเดือนมีการใช้เกิน 100 กิโลกรัม ก็ต้องมีการแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ด้วย โดยตำรวจจะเป็นผู้ติดตามการใช้งาน ว่ามีการใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่

 

 

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

ส่วนเรื่องที่มีการขายผ่านออนไลน์ จะต้องไปดูที่ พ.ร.บ.ควบคุมเรื่องวัตถุอันตราย ว่าโฆษณาได้หรือไม่ ซึ่งหลังจากนี้จะประสาน สคบ. ให้ช่วยดูว่าสามารถควบคุมการโฆษณาไซยาไนด์ได้หรือไม่ด้วย

 

 

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังบอกว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่ขอนำเข้าไซยาไนด์ทั้งหมด 14 ราย รวมน้ำหนัก 80 ตันต่อปี ซึ่งแนวทางการป้องกันเร่งด่วนหลังจากนี้ทางอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะมีการแก้ไขเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตนำเข้า ไซยาไนด์ โดยจะกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความความเข้มงวดก่อนนำเข้า เช่น ให้ผู้ที่ขออนุญาตนำเข้าแจ้งรายชื่อผู้ที่ต้องการใช้ สารไซยาไนด์ เป็นต้น ก่อนที่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การแก้กฎหระทรวงในขั้นต่อไป