ข่าว

ย้อนรอย 'คานทางด่วน' ถล่ม บน 'ถนนพระราม 2' ซ้ำซาก สะเพร่า หรือ อาถรรพ์

ย้อนรอย 'คานทางด่วน' ถล่ม บน 'ถนนพระราม 2' ซ้ำซาก สะเพร่า หรือ อาถรรพ์

08 พ.ค. 2566

ย้อนรอย 'คานทางด่วน' ถล่มซ้ำซาก บน 'ถนนพระราม 2' ถนนแห่งการ ซ่อม-สร้าง-อุบัติเหตุ เกิดจากอาถรรพ์ หรือ ความสะเพร่า

“คานทางด่วน” หล่น บนถนนพระราม 2 คร่าชีวิตคนงานไป 1 ราย รถยนต์ได้รับความเสียหาย 2 คัน เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 พ.ค. 2566 ไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งแรก บนถนนแห่งนี้ แต่เรียกได้ว่า เป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ที่เกิดจากโครงการก่อสร้างหลายโปรเจกต์ ที่กินเวลายาวนานหลายปี

 

 

 

 

จุดที่เกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุด เป็นจุดก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่ง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชี้แจงว่า สาเหตุเกิดจาก บาร์ที่ใช้ยึดระหว่างชุด Lifting Frame ขาด จึงทำให้ชิ้นงาน Segment หล่นลงพื้น คมชัดลึก พาไปย้อนดูอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการ บนถนนพระราม 2 ที่เรียกกันว่าเป็นถนนแห่งการ ซ่อม-สร้าง-อุบัติเหตุ

 

ถนนพระราม 2

ย้อนรอยอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2

 

  • 9 ส.ค. 2563 เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ 2 คัน เป็นรถกระบะ และรถเก๋ง ตกร่องถนนที่กำลังก่อสร้าง จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณหน้าบริษัท โลหะกิจเจริญทรัพย์ ถนนพระราม 2 จ.สมุทรสาคร ขาเข้ากรุงเทพฯ โดยที่เกิดเหตุไม่มีป้ายแจ้งเตือน และเป็นลักษณะน้ำท่วมบริเวณร่องถนน
  • 21 ส.ค. 2564 คนงานบริษัท อิตาเลียนไทยฯ หล่นจากคานทางด่วน พระราม 2 ช่วง กม.19 เสียชีวิตระหว่างทำการติดตั้งแผ่นรองรับตัวคาน คาดว่า เป็นช่วงมุดเข้าใต้ท้องสะพานจึงถอดเข็มขัดนิรภัยออก
  • 17 ก.ค.2565 วัสดุก่อสร้างร่วงหล่นลง บนถนนพระราม 2 กม.17 ขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงสมุทรสาคร เหล็กขนาดใหญ่ได้ลอยตกลงมาทับจนรถกระดอนขึ้น สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และมีรถยนต์ส่วนบุคคลเสียหายอีก 2 คัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จำนวน 3 คน กรมทางหลวงชี้แจงว่า เหล็กดังกล่าว เป็นชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็ก
  • 22 ก.ค. 2565 พบรอยแตกร้าว พื้นสะพานทางด่วนพระราม 2 บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเนเชอร่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือ ทรัพย์สินเสียหาย กรมทางหลวง ชี้แจง คาดว่าเกิดจากความสั่นสะเทือน เนื่องจากสะพานช่วงดังกล่าว มีปริมาณการจราจรสูงมาก พร้อมระบุถึงการเข้าซ่อมแซม โดยปิดช่องจราจรด้านใต้ของสะพานเป็นเวลา 2 สัปดาห์
  • 31 ก.ค. 2565 เหตุการณ์ครั้งนี้ คนจดจำได้เป็นอย่างดี เมื่อสะพานกลับรถ หรือจุดยูเทิร์นเกือกม้า ถนนพระราม 2 บริเวณ กม.34 หน้าโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร ต.บางกระเจ้า อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พังถล่มลงมาทับรถยนต์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และ บาดเจ็บ 2 ราย

 

สะพานกลับรถถล่ม บนถนนพระราม 2

ถนนพระราม 2 เต็มไปด้วยโปรเจกต์ก่อสร้าง นับตั้งแต่ปี 2561 รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ของกรมทางหลวง ไม่นับโครงการซ่อมแซมอื่นๆ ได้แก่

 

 

  1. ทางยกระดับบนทางถนนพระราม 2 หรือ มอเตอร์เวย์
  2. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
  3. โครงการขยายพระราม 2 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา

 

อุบัติเหตุบนถนนพระราม 2

 

ส่วนปัจจุบัน กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 หรือ M82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 24.7 กม. งบประมาณกว่า 29,236 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่

 

  • เฟสที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน–เอกชัย ช่วง กม.11+959 พื้นที่กรุงเทพฯ สิ้นสุด กม. 20+295 อ.เมืองสมุทรสาคร ระยะทางรวม 8.3 กม. วงเงินรวมกว่า 10,477 ล้านบาท
  • เฟสที่ 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย บริเวณ กม.20 อ.เมืองสมุทรสาคร สิ้นสุด กม.36 อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 16.4 กม. วงเงินจากการประมูลกว่า 18,759 ล้านบาท  เริ่มสัญญาวันที่ 1 ก.พ. 2565 สิ้นสุดสัญญา 15 ม.ค. 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 1,080 วัน

 

ทั้งนี้ เส้นทางมอเตอร์เวย์ พระราม 2 คาดว่าเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568

 

คานทางด่วนบนถนนพระราม 2

 

ทั้งนี้ จุดที่เกิดอุบัติเหตุครั้งล่าสุด เป็นโครงการพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก (สัญญาที่ 2) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยมีกิจการร่วมค้า ซีทีบี (CTB Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปะนี ลิมิเต็ด, บริษัท ทิพากร จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้าง

 

 

อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จากการก่อสร้างโครงการที่กินเวลายืดเยื้อหลายปี เกิดเป็นคำถาม ทั้งหมดนี้ เกิดจากความสะเพร่า หรือ อาถรรพ์ กันแน่

 

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก bbc