ข่าว

สภาทนายความ ตั้งทีมช่วยเหยื่อ สู้คดี 'แอม ไซยาไนด์' เทียบเคส หมอผัสพร

สภาทนายความ ตั้งทีมช่วยเหยื่อ สู้คดี 'แอม ไซยาไนด์' เทียบเคส หมอผัสพร

09 พ.ค. 2566

สภาทนายความ ตั้งทีมช่วยเหยื่อ สู้คดี 'แอม ไซยาไนด์' ยกเคสคดี ฆ่าหั่นศพ 'หมอผัสพร' เอาผิดผู้ต้องหา แม้อัยการสั่งไม่ฟ้อง จนนำไปสู่ ประหารชีวิต

ยังเป็นประเด็นร้อนที่ต้องติดตามกันต่อ สำหรับคดี “แอม ไซยาไนด์” หลังถูกจับข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน รวมทั้งหมายจับอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ขณะเดียวกัน ยังมีเหยื่อ ที่คาดว่าจะถูกฆ่าวางยาด้วย ไซยาไนด์ โผล่ขึ้นมาอีกหลายราย ซึ่งญาติ ยังคงเคลือบแคลงใจ สาเหตุการตาย และเกรงว่าคดีจะไม่คืบ เนื่องจากบางเหตุการณ์ ผ่านมาหลายปีแล้ว

 

 

 

 

ล่าสุด สภาทนายความ แถลงแนวทางช่วยเหลือเหยื่อ คดี “แอม ไซยาไนด์” โดยการตั้งคณะทำงานร่วมหน่วยงานตำรวจ ยืนยันว่า มั่นใจสู้คดีได้ แม้คดีจะผ่านมานานหลายปี โดยยกคดีฆ่าหั่นศพหมอผัสพร เปรียบเทียบการเอาผิดผู้ต้องหา และถึงแม้ว่า ผู้ต้องหาจะตั้งครรภ์ ก็ไม่มีผลกับการพิจารณาโทษ

 

สภาทนายความ แถลงข่าวช่วยเหยื่อ คดีแอม ไซยาไนด์

นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมผู้บริหารสภาทนายความ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว หลังจาก นายรพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานเหยื่อ คดีถูกวางยาไซยาไนด์ ได้พาญาติของเหยื่อในคดีมาร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อขอให้ทางสภาทนายความ เข้าไปช่วยเหลือทางคดี

 

 

โดยนายวิเชียร ระบุว่า ได้รับการติดต่อจากญาติของผู้เสียหาย เพื่อต้องการให้สภาทนายความ ช่วยเหลือทางกฎหมาย ทั้งหมด 14 ราย ในแง่ของสภาทนายความ ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือ ญาติเหยื่อทุกราย โดยจัดจัดทนายความอาสาไปช่วยเหลือด้านกฎหมาย ไม่ต้องเสียค่าทนายความ และจะทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

  

 

นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ส่วนญาติที่อยู่ต่างจังหวัด มีสภาทนายความจังหวัด ที่จะไปสอบข้อเท็จจริง หลังจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือทางคดีกับญาติผู้ตาย ประกอบไปด้วย ทนายความ ตำรวจระดับสูง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านยาพิษ หรือ ไซยาไนด์ เพื่อมาร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในการสนับสนุนการสอบสวน

 

ญาติเหยื่อคดี แอม ไซยาไนด์

ส่วนแนวทางการต่อสู้คดี เนื่องจากเหตุเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว ไม่ได้มีการชันสูตรพลิกศพ เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ที่จะตามดูการเสียชีวิต ว่าอาจจะถูกกระทำโดยผู้ต้องหา และทนายความก็จะต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีร่องรอยหลักฐานอื่นๆ หลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ รวมทั้งมีพยานหลักฐานมากน้อยแค่ไหน

 

 

ยกเคสคดีฆาตกรรม “หมอผัสพร” เป็นคดีตัวอย่าง

 

 

นายวิเชียร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีคดีสำคัญ คือ คดีฆาตกรรม พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ที่ถูกสามีฆ่าหั่นศพ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2544 ซึ่งคดีดังกล่าว พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่มีทนายความจากสภาทนายความ เข้าไปฟ้องคดีแทนญาติของหมอผัสพร จนทำให้นำไปสู่การตัดสินประหารชีวิต นี่ก็เป็นคดีที่สภาทนายความให้การช่วยเหลือ แม้จะมีข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนก็ตาม ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงในการทำคดี ซึ่งทนายความที่เคยทำคดีหมอผัสพร ก็อยู่ในคณะทำงานคดี “แอม ไซยาไนด์” ด้วยเช่นกัน

 

 

ส่วนการช่วยเหลือทางแพ่ง จะมี 2 กรณี คือ พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ญาติผู้เสียหายก็จะแต่งตั้งให้ทนายความไปเป็นโจทก์ร่วม และเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความผิดทางละเมิดด้วย

 

ญาติเหยื่อคดี แอม ไซยาไนด์

ขณะที่ประเด็นที่ น.ส.ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ ทนายความของแอม ไซยาไนด์ ให้สัมภาษณ์สื่อทางโทรศัพท์ โดยแสดงกิริยาไม่เหมาะสมต่อทางญาติ ที่ร่วมรับฟังด้วยนั้น นายวิเชียร บอกว่า ผู้ต้องหา หรือจำเลยนั้น ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งทนายความก็มีหน้าที่เข้ามาแก้ต่างในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ต้องคำนึงถึงข้อบังคับ ว่าด้วยมรรยาทของทนายความด้วย โดยเป็นสิ่งที่ทนายความทุกคนต้องพึงปฎิบัติ พร้อมทั้งห้ามแสดงความคิดเห็น หรือฝ่าฝืนข้อบังคับ ในส่วนนี้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืน ญาติเหยื่อสามารถเข้ามาร้องทุกข์ โดยทางคณะกรรมการมรรยาท ก็จะเข้าตรวจสอบมรรยาททางทนายความ ตลอดจนหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาเป็นคดีมรรยาท ก่อนดำเนินคดีได้

  

 

“เบื้องต้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 คน เข้ามาตรวจสอบข่าวต่างๆ ที่ปรากฏตามสื่อแล้วว่ามีอะไรที่ละเมิดบ้าง ซึ่งทนายความบางคนได้ทำบางสิ่งบางอย่างเลยเถิดจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามไปยังคณะกรรมการว่าจะต้องดำเนินการในรูปแบบใด” สภาทนายความแถลง

 

ขณะที่ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ /รองเลขาธิการฯ ระบุถึงประเด็นประวัติการรักษาอาการจิตเวชของผู้ต้องหาว่า ในประเด็นประวัติการรักษานั้น หากช่วงเวลาที่ก่อเหตุ ไม่สามารถหยิบยกมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ได้รับโทษได้ รวมถึงปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นอุปสรรคปัญหาในการพิจารณาคดีในชั้นศาล เพื่อพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิด เพราะกฎหมายไม่ได้ยกเว้นว่า ห้ามมิให้ศาลสืบพยาน

 

แอม ไซยาไนด์

ดังนั้น พนักงานสอบสวนมีอำนาจทุกอย่าง และการตั้งครรภ์จะเป็นบทสุดท้าย โดยเมื่อคดีถึงที่สุด หากศาลลงโทษให้ประหารชีวิต เชื่อว่า ผู้ต้องหาคลอดบุตรแล้วอย่างแน่นอน จึงไม่มีผลกับคำพิพากษา และยังคงประหารชีวิตสถานเดียว