นักวิชาการพุทธศาสนา เทียบคดี ชี้ เคสเงินทอนวัดใกล้เคียง พระอาจารย์คม
นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ชี้ เคส พระอาจารย์คม ยอมรับในข้อเท็จจริง ไม่รับข้อกล่าวหา เทียบกรณีเงินทอนวัด เส้นทางการเงินไม่นิ่ง เป็นผลไม่ยกฟ้อง
เรื่องราวของการขยายผลการจับกุม อดีตพระอาจารย์คม แห่งวัดป่าธรรมคีรี จ.นครราชสีมา ที่ดูเหมือนว่าทรัพย์สินที่ทางตำรวจ ค้นพบมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ร่วมกระทำความผิดในการยักยอกทรัพย์สินของวัด นำไปซ่อนหรือพยายามที่จะขนย้ายออกไป
ในเรื่องราวที่คล้ายกัน กับเคสของ พระอาจารย์คม ที่กำลังเกิดขึ้น ย้อนหลังกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กรณีของ เณรคำ ฉัตติโก หรือ นายวิรพล สุขผล ที่อาศัยความศรัทธาของผู้คน หลอกลวงหาเงินจำนวนไม่น้อย
ลำดับเรื่องเก่าที่ผ่านมา เวลานั้น เณรคำได้รับนิยมอย่างสูง เป็นพระที่มีภูมิธรรม ออกหนังสือธรรมะที่ฮิตอย่างมาก เข้าร้านสะดวกซื้อไหนก็พบเห็น 'ชาติหน้าไม่ขอเกิด' และ 'นิพพานมีจริง’ และดำเนินการก่อสร้างวัดป่าขันติธรรม สร้างพระแก้วมรกตองค์ใหญ่ ระดมทุนบุญต่างๆมากมาย จนเมื่อมีการแฉภาพ เณรคำ กับ พระอีก 2 รูป บนเครื่องบินส่วนตัวและของใช้ราคาแพง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ ก่อนที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการตรวจสอบ พบจำนวนเงินเสียหายในกรณีนี้กว่า 200 ล้านบาท รวมทั้งยังมีเรื่องของปาราชิก การเสพเมถุน พรากผู้เยาว์ เป็นต้น
นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เรื่องราวของกรณีอดีตพระอาจารย์คมนั้นต้องยอมรับว่ายังมีกรณีที่คล้ายกันในอีกหลายวัด ในตอนนี้ทางสำนักงานพระพุทธศาสนากองปราบปรามตำรวจสอบสวนกลางก็ดำเนินการในเรื่องกรณีนี้อยู่ถ้าอยากจะฝากก็คงจะต้องขอฝากอย่าโยกย้ายเงิน
กรณีพระคม ระหว่างถูกควบคุมตัวก็ยังแอบโทรศัพท์มาสั่งให้ย้ายทรัพย์สินเหตุการณ์เลยบานปลาย ถูกจับอีก 6 คน เพราะมีการโทรไปสั่งให้ย้าย พอย้ายก็เข้าความผิดฟอกเงินทันที รวมทั้งรับของโจรเข้าไปอีก จากที่จะมีข้อหาน้อย ๆ ผู้ต้องหาไม่กี่คน กลับไปขยายผลให้ตัวเอง ฝากไปถึงวัดที่รู้ตัวว่าทำลักษณะคล้ายกัน ก็จงอยู่นิ่งๆ อย่ายิ่งไปเปิดแผลตัวเองให้มาก
ในมุมมองของ อ.จตุรงค์ เมื่อนำ 2 กรณี ระหว่าง พระอาจารย์คม กับ เณรคำ มาเทียบวิเคราะห์ความเสียหาย อ.จตุรงค์ บอกว่า กรณีเณรคำเป็นการหลอกลวงประชาชน มีข้อหาทางอาญา 5 ข้อหา แต่กรณีพระอาจารย์คมใช้พ.ร.บ.ฟอกเงิน ขั้นศาลก็ต่างกัน ขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งในทางคดีนั้น มีความใกล้เคียงกับคดีเงินทอนวัด เจ้ภาพดำเนินการจับกุมแบบเดียวกัน ขึ้นศาลเดียวกัน และ กรณีพระอาจารย์คมกับเงินทอนวัด มีอะไรที่น่าศึกษา ด้วยมีบางวัดรอดคดี บางวัดไม่รอด ในกรณีนี้ต้องมาดูกันว่า พฤติการณ์การเคลื่อนย้ายทรัพย์เป็นแบบนี้ จะรอดไหมในการจะโดนข้อหายักยอกทรัพย์ก็ดี หรือเรื่องการฟอกเงินก็ดี
จุดร่วม จุดต่างกรณีนี้กับเงินทอนวัด อ.จตุรงค์ อธิบายว่า ในเรื่องเงินทอนวัด มี 2 วัดที่น่าสนใจเป็นกรณีศึกษา นั่นคือ วัดสระเกศฯ หรือวัดภูเขาทอง กับวัดสามพระยา ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของ การไม่ยกฟ้องวัดสระเกศ แต่ยกฟ้องวัดสามพระยา จุดตัดคือ บัญชี เส้นทางการเงิน เคสวัดสามพระยา เมื่อเงินเข้ามาแล้ว เงินทั้งหมดอยู่ในบัญชีวัด ไม่มีการเคลื่อนไหว ส่วนวัดสระเกศฯ มีความคล้ายกับกรณีพระอาจารย์คม จำนวนเงินที่เข้าบัญชีมาไม่นิ่ง มีการส่งต่อไปให้บุคคลที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 มีการเคลื่อรย้าย หรือหักเปอร์เซ็นต์อะไรก็แล้วแต่ เมื่อเส้นทางการเงินไม่นิ่ง ไม่อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ จึงเป็นเหตุผลในศาลไม่ยกฟ้อง และถ้าใครรับเป็นทนายความให้ ก็คงต้องมีความปวดหัวอย่างมาก ด้วยจากการรยงานข่าวเกี่ยวกับคดี เป็นเรื่องที่ยากมากว่าจะไปเบิกความอย่างไรให้จบได้แบบวัดสามพระยา กรณีนี้ทนายความทำงานง่าย เมื่อเรียกสอบถาม เงินอยู่ที่ไหน เงินอยู่ในบัญชีวัด ไม่มีอยู่ในบัญชีส่วนตัว รวมทั้งไม่มีการถอนออกมา แต่เคสพระคม ถอนออกมาแล้วเอาไปฝากคนที่ไว้ใจได้ ถามว่าถ้าคุณเป็นศาลจะฟังขึ้นหรือไม่ ไม่ไว้ใจธนาคาร ไปไว้ใจน้องสาวหิ้วเงินเป็นกระเป๋า หรือไม่ไว้ใจตู้เซฟ เลยไปขุดหลุมฝัง ถ้าเทียบให้เห็นภาพ เส้นทางการเงินวัดสามพระยานิ่ง กลับกันเมื่อเทียบกับของพระอาจารย์คม เส้นทางการเงิน มีการโยกย้ายไปไว้ที่น้องสาวและฝังซุกซ่อน เกรงว่า พระหมอ อดีตเจ้าอาวาสจะได้รับโทษหนักกว่าคนอื่น เพราะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ด้วยเป็นเจ้าอาวาส และถอนเงินในนามเจ้าอาวาส ในตอนนี้ผู้ต้องหาได้รับสารภาพในข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้รับในข้อกล่าวหา ความหมายคือ ยอมรับว่าย้ายเงินจริง แต่ไม่มีเจตนาจะโกง ก็ต้องไปพิสูจน์ให้ได้กับศาล
จากข้อสังเกตว่า กรณีแบบนี้มักจะเกิดกับฝั่งธรรมยุติมากกว่า อ.จตุรงค์ บอกว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เสมอไป อย่างกรณีเงินทอนวัด มีธรรมยุติ แค่วัดเดียว ด้วยซ้ำ และเสี่ยงกันหมดไม่ว่าจะฝั่งไหน เพียงแต่ ความเป็นธรรมยุติมันขายได้ ความเคร่ง ความน่าศรัทธา มีปาฏิหาริย์ การเทศนาชนิดจีบปากจีบคอ ก็จะมีในลักษณะแม่ยกมากสักหน่อย เข้าใจว่าเวลามีเรื่องลักษณะแบบนี้จะเกิดกับธรรมยุติบ่อยครั้ง ในความเป็นจริงก็มีหลายกรณีในฝ่ายมหานิกาย
ในตอนท้าย อ.จตุรงค์ ฝากข้อคิดว่า ถ้าเราเป็นชาวพุทธที่ดี ต้องยึดในคำสอน ยึดในหลักการศาสนา อย่าไปยึดติดที่ตัวบุคคลความไม่ดีของตัวบุคคลเป็นเครื่องทดสอบศรัทธาของเราที่มีต่อศาสนา ถ้าเราเป็นชาวพุทธที่ดีมีคุณภาพ ก็จงอยู่กับหลักการ คำสอน