ชำแหละ 'พ.ร.บ.อุ้มหาย' ย้อนที่มา 4 คดีดัง ยื้อ หรือ ไม่พร้อมจริง
ย้อนรอย 4 คดี 'อุ้มหาย' คดีระดับชาติ ก่อนชำแหละ 'พ.ร.บ.อุ้มหาย' ป้องกัน อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ที่ผ่านมา ยื้อ หรือ ไม่พร้อมจริง
“พ.ร.บ.อุ้มหาย” ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากเดิม ต้องมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเลื่อนเวลาบังคับใช้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องงบประมาณ และความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่ง ครม.ได้ให้ความเห็นชอบ เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มาตรา 22-25 โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป
แต่จากมติศาลรัฐธรรมนูญ ตีตก พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ซึ่งทำให้กฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ทันที
พ.ร.บ.อุ้มหาย สาระมาตราที่ขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป
- มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
- มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
- มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
ทั้งนี้ จากบริบท สาระหลักมาตรา 22 เป็นสาเหตุที่ทำให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเลื่อนการบังคับใช้ ด้วยเหตุผล “งบประมาณ” ผบ.ตร. อ้างในหนังสือว่า แม้ที่ผ่านมา ตร.ได้จัดซื้อกล้องบันทึกความเคลื่อนไหวให้กำลังพลในภารกิจอื่น แต่การรองรับการปฏิบัติงาน (Body Camera) ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว พบว่า ปริมาณยังไม่เพียงพอ โดยจะต้องจัดซื้ออีก 171,808 ตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6,244 ตัว โดยจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 3,473 ล้านบาท
เอกสารระบุด้วยว่า งบประมาณส่วนนี้ “ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการจัดระบบเก็บข้อมูลอีกด้วย ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยจะต้องตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดคืองบประมาณปี 2567
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยังย้ำว่า ขั้นตอนที่เป็นปัญหาการปฏิบัติของตำรวจ โดยเฉพาะผู้จับกุม คือการบันทึกภาพ และเสียง ในขณะที่จับกุมตัว และควบคุมตัว ตำรวจมีทั้งหมดกว่า 2 แสนนาย แต่อุปกรณ์ที่จัดซื้อไว้หลายปีที่ผ่านมา มีประมาณ 120,000 ชุด ชำรุดไปพอสมควร เมื่อมี พ.ร.บ.นี้ออกมา ก็อยู่ระหว่างจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติม ขณะนี้เป็นไปในลักษณะเวียนกันใช้ไปก่อน
ความสำคัญของ “พ.ร.บ.อุ้มหาย”
“พ.ร.บ.อุ้มหาย” ถูกผลักดันมาแล้วมากกว่า 10 ปี จากภาคประชาสังคม ซึ่งร่างกฎหมาย ผ่านความเห็นชอบของ ครม.เมื่อปี 2559 แต่ถูกดองในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกือบ 1 ปี ก่อนถูกส่งกลับไป ครม.จน สนช. หมดวาระ และได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ช่วงปลายปี 2564 หลังเกิดกรณี “ผู้กำกับโจ้”
ความสำคัญของ “พ.ร.บ.อุ้มหาย” หลักใหญ่ใจความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวอย่างที่มีให้เห็นมาแล้ว คือ คดีอุ้ม “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม หรือการหายตัวไปของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบางกลอย
“อังคณา นีละไพจิตร” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเป็นผู้หนึ่ง ที่ต้องสูญเสียสามีไป จากการถูก “อุ้มหาย” อ้างถึงงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า 90% ของการอุ้มหาย ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนั้น ถ้ายังไม่มีกลไกที่เป็นอิสระและตรวจสอบได้ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล ที่ผ่านมา เมื่อมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบบุคคลที่สูญหาย ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ก็จะให้ยุติคดี ยุติการสืบสวน เมื่อสืบสวนสอบสวนไปครบ 1 ปีแล้ว ไม่พบตัว ซึ่งทำให้ไปไม่ถึงคนทำผิด
เนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย
- เอาผิดกับบุคคลที่กระทำการทรมาน หรือบังคับบุคคลอื่นให้สูญหาย
- การทรมานและอุ้มหายมีโทษ จำคุก 5-15 ปี ถ้าเหยื่อเสียชีวิต จำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต
- มี “คณะกรรมการ” กำกับดูแลการทำคดีทรมาน หรืออุ้มหาย
- การอุ้มหาย ครอบคลุมถึงการนำตัวคนไปควบคุมไว้ในสถานที่ใดที่หนึ่ง
- สถานการณ์ฉุกเฉิน, ความมั่นคง, สงคราม ไม่เป็นเหตุนำมาอ้างเพื่ออุ้มหาย
- ความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหาย ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้
- อายุความดำเนินคดี 20 ปี และไม่เริ่มนับหนึ่ง จนกว่าจะพบร่องรอยผู้ถูกกระทำ
ย้อนรอย 4 คดี “อุ้มหาย”
1. คดีอุ้มนายทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงานคนสำคัญ ปี 2534
นายทนง ถูกอุ้มหายตัวไปเมื่อ 19 มิ.ย. 2534 ในยุค "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" (รสช.) ครองเมือง เขาดำรงตำแหน่งประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานที่มีสมาชิกมากที่สุด มีบทบาทนำการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด และเขายังเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (ICFTU)อีกด้วย
ในช่วงนั้นคณะ รสช.ออกคำสั่งยุบเลิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และจำกัดการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานภาคเอกชน แต่ทนงได้ออกมาคัดค้านอย่าง เพื่อคัดค้านคำสั่งของ รสช. แต่ในวันที่โอกาสอันสำคัญ ของทนงมาถึง เมื่อเขาได้เป็นผู้แทนของคนงานไทย ไปประชุมองค์กรแรงงานระหว่างประเทศที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีกำหนดการเดินทางไปในวันที่ 20 มิ.ย. 2534 แต่ในวันที่ 19 มิ.ย. เขาก็ถูก “อุ้มหาย” ไป หลังจากที่ขับรถยนต์ออกจากบ้าน และหายสาบสูญไปจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นเวลานานถึง 32 ปี
2. คดีอุ้ม “สมชาย นีละไพจิตร”
นายสมชาย เป็นทนายความในคดีสำคัญหลายคดี โดยเฉพาะคดีทางภาคใต้ ที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการก่อการร้าย และว่าความให้จำเลยพ้นจากข้อหาได้เกือบทุกคดี
โดยวันที่ 11 มี.ค. 2547 ทนายสมชาย ขับรถยนต์ออกจากบ้านพัก ในซอยอิสรภาพ 9 เขตธนบุรี กทม. เพื่อไปทำงานตามปกติ และไม่ได้กลับบ้าน เนื่องจากจะต้องไปนอนพักค้างคืนที่บ้านเพื่อน เพื่อเตรียมตัวไปว่าความในคดีเจไอ ที่ศาล จ.นราธิวาส ก่อนหายตัวไป ซึ่งการทำงานของเขาหลายคดี เปิดโปงพฤติกรรมของตำรวจ และหลายฝ่ายเชื่อกันว่า ผลงานของเขาน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูก “อุ้มหาย” ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ผ่านมา 19 ปี ยังไร้วี่แวว “ทนายสมชาย นีละไพจิตร”
3. คดีอุ้มฆ่าลูกเมีย “สันติ ศรีธนะขัณฑ์”
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2537 มีผู้พบศพนางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยา และบุตรชาย นายสันติ ศรีธนะขันฑ์ เจ้าของร้านเพชรย่านบ้านหม้อ ภายในรถเบนซ์ บนถนนมิตรภาพ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เบื้องต้นมีการสรุปว่า การเสียชีวิตของสองแม่ลูกมาจากอุบัติเหตุ แต่การเสียชีวิตของนางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ไม่ได้เป็นการเสียชีวิตเหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป เพราะทั้งสองแม่ลูกในขณะนั้น เป็นภรรยาและลูก ของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “คดีเพชรซาอุฯ”
ซึ่งต่อมา ตำรวจชุดคลี่คลายคดีฆาตกรรมสองแม่ลูก ได้จับกุม พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ กับพวก และส่งฟ้องต่อศาล กระทั่งศาลฎีกา มีคำพิพากษาเมื่อ 15 ต.ค. 2552 ให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ เป็นการปิดฉากคดีที่ยาวนานถึง 15 ปี
4. คดี “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ
พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและเป็นหลานชายของ “ปู่คออี้” ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บิลลี่ถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องในสิทธิชุมชน ซึ่งในหลายกรณีเป็นความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงกับเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่อยู่อาศัยและการไล่รื้อที่อยู่ของชาวบ้าน และเขาเป็นหนึ่งแกนนำในการเตรียมฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ กรณีการเข้ารื้อทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่ใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554
เดือน ก.ค. 2554 ปู่คออี้ ร่วมกับชาวบ้าน บ้านบางกลอยบน และบ้านใจแผ่นดิน จ.เพชรบุรี รวม 6 คน ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คดีนำกำลังเข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัว หลังจากใช้เวลาการต่อสู้ในกระบวนการ เกือบ 3 ปี ศาลปกครองกลางจะเรียก “พยาน” เข้าให้ข้อมูลในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ค. 2557 แต่เพียง 1 เดือน ก่อนถึงวันนัดหมาย “บิลลี่” พยานปากเอกของคดี กลับหายตัวไปอย่างลึกลับ
ผ่านไป 9 ปี บิลลี่ยังคงหายไปอย่างไร้ร่องรอย ครอบครัวยังคงต้องตามหาความยุติธรรมต่อไป เพราะทางการยังไม่สามารถนำตัวผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษได้