'ตม.' รวบผู้ต้องหาจีนรายสำคัญหลอกลงทุนกว่าแสนล้านก่อนหนีกบดานไทย
ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง "ตม." รวบ 4 ผู้ต้องหาจีนรายสำคัญหนี "หมายจับ" กบดานในไทย หนึ่งในนั้นเป็นมือขวาแก๊งหลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่จีน ตุ๋นเหยื่อสูญเงินนับแสนล้านบาท ตร.เร่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร รอการส่งกลับ
23 พ.ค. 2566 พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และพล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (รอง ผบช.สตม) แถลงผลจับกุมผู้ต้องหาชาวจีนรายสำคัญ จำนวน 4 ราย ซึ่งหนีหมายจับทางการจีนเข้ามากบดานในประเทศไทย
รายแรก นายจ้าว อายุ 35 ปี เป็นมือขวาแก๊งหลอกลงทุนแชร์ลูกโซ่จีน ร่วมกันพวกเปิดบริษัทเกี่ยวกับการลงทุน และชักชวนให้ซื้อทัวร์ ในราคาถูก และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบริษัท พร้อมชักชวนให้ชาวจีน ร่วมลงทุน โดยอ้างว่าได้รับผลตอบแทนร้อยละ 7-10 ของเงินลงทุน มีคนหลงเชื่อลงทุนกว่า 150,000 ล้านบาท และมีทรัพย์สินที่ทางการจีนต้องติดตามคืนอีกกว่า 75,000 ล้านบาท
รายที่ 2 คือ น.ส.เยี่ยนฟาง อายุ 35 ปี เป็นผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และหลบเลี่ยงภาษี 25 ล้านหยวน หรือประมาณ 125 ล้านบาท
รายที่ 3 คือ นายชิงอี อายุ 44 ปี เป็นผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าขยะ 15 ตัน จากการเปิดบริษัทที่ อ.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ในการนำเข้า และส่งออกถุงมือยางในช่วงโควิด แต่เป็นช่วงที่ทางการจีนสั่งห้ามนำเข้า
คนที่ 4 คือ นายหยวน อายุ 45 ปี เป็นผู้ต้องหาที่ลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก 474 ตัน
ผู้ต้องหาทั้ง 4 ราย ได้ทยอยหลบหนีเข้ามาซ่อนตัวอยู่ในไทย สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จึงประสานข้อมูล ไปยังกองการต่างประเทศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้ช่วยจับกุม ซึ่งทั้ง 4 คน ถูกจับกุมได้ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และชลบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของผู้ต้องหาทั้งหมด และเตรียมรอการส่งกลับไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป
พล.ต.ต.พันธนะ กล่าวว่าการจับกุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างทางการจีน และทางการไทย จนนำไปสู่ความร่วมมือกันสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดในคดีต่างๆ จากหมายจับที่ทางการจีนประสานมายังไทยกว่า 131 หมายจับ มีการจับกุมไปแล้วหลายสิบหมายจับ แต่เนื่องจากผู้ต้องหาบางคนเข้ามาในไทย และได้ออกไปยังประเทศที่ 3 แล้ว หรือบางคนเดินทางไปๆ มาๆ ทางการจีน จึงจะมีการส่งข้อมูลหมายจับ และอัพเดทข้อมูลให้ทางการไทยอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนกลุ่มทุนจีนสีเทา และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีน ตลอดจนแก๊งอุ้มเรียกค้าไถ่ชาวจีน ก็ได้ทำงานร่วมกับทางการจีนมาโดยตลอด และมีการจับกุมมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีชาวจีนที่ก่อเหตุอาชญากรรมในหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆ ที่ทางการจีนเฝ้าระวัง แต่ทางการจีนหันไปจับตาประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา หลังพบว่ามีเหตุลักพาตัวเรียกค่าไถ่ชาวจีนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอันดับต้นๆ ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากช่วงหลังมานี้กลุ่มชาวจีนจำนวนมากได้นำเงินมาลงทุนนอกประเทศ โดยเฉพาะในโซนเอเชีย ทำให้ตกเป็นเหยื่อมากขึ้น