ตร.เตือน 'ภัยออนไลน์' ซ้ำเติม ปชช.ย้ำ ทำงานง่าย รายได้ดี ไม่มีอยู่จริง
ตำรวจเตือนภัยมิจฉาชีพ "ภัยออนไลน์" หลอกคนหางานเพิ่มรายได้ สมัครงาน ย้ำ ทำงานง่าย รายได้ดี ไม่มีอยู่จริง พร้อมแนะวิธีป้องกันตรวจสอบเว็บปลอม
พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วยคณะทำงาน แถลงสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดในช่วง 28 พ.ค.- 3 มิ.ย. 2566 ยังคงมีคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่
1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ
2. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ
3. คดีหลอกลวงให้กู้เงิน
4. คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center)
5. คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
สำหรับคดีออนไลน์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกลวงซ้ำเติมประชาชนในช่วงนี้ คือ คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ โดยรูปแบบการหลอกลวง เช่น
- หลอกให้ทำงานหารายได้พิเศษในการสต๊อกสินค้าให้ศูนย์กระจายสินค้าของแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง โดยให้ผู้เสียหายกดไลค์ กดแชร์สินค้าที่กำหนด และโอนเงินค่าสินค้าเพื่อเป็นการสต๊อกสินค้า โดยอ้างว่าผู้เสียหายจะได้ค่าคอมมิชชัน ของราคาสินค้า
- หลอกให้ทำงานกดสั่งสินค้าใส่ตะกร้าในจากนั้นคนร้ายให้บันทึกหน้าจอส่งให้ดูพร้อมโอนเงินตามมูลค่าสินค้านั้นๆเข้าบัญชีคนร้าย โดยอ้างว่าผู้เสียหายจะได้ค่าคอมมิชชัน
- หลอกลวงให้ทำงานหารายได้พิเศษจากการขายสินค้าในแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าหลายล้านรายการจากทั่วโลก โดยให้เลือกสินค้ามาขาย ตามเงื่อนไขและจำนวนที่จะทำให้ผ่านภารกิจ และต้องเติมเงินก่อนขายทุกครั้ง โดยอ้างว่าผู้เสียหายจะได้กำไรจากการขายสินค้า ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องย้ำเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท.บช.สอท. กล่าวถึงรายละเอียดภัยออนไลน์ที่มิจฉาชีพหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ ดังนี้
1. หลอกให้สมัครงาน สุดท้ายอ้างคนเต็ม ให้ทำภารกิจลงทุนแทน
มิจฉาชีพโฆษณารับสมัครงาน ทางเฟซบุ๊ก โดยใช้รูปและโปรไฟล์ที่น่าเชื่อถือชักชวนให้ทำงาน โดยมีเงื่อนไขในการสมัครงานง่าย รายได้ดี ผู้เสียหายหลงเชื่อทักสอบถามรายละเอียด จากนั้น มิจฉาชีพคนที่ 1 ให้เพิ่มเพื่อนไลน์ มิจฉาชีพคนที่ 2 มิจฉาชีพคนที่ 2 อ้างว่ามีคนทำงานตามที่โฆษณาเต็มแล้วและ เสนอให้ผู้เสียหายทำภารกิจซื้อพอร์ตหุ้นในเว็บไซต์ปลอม Liberator โดยจะได้ผลตอบแทน 20% ผู้เสียหายหลงเชื่อกดลิงก์สมัครและลงทุนในเว็บไซต์ตามคำแนะนำของมิจฉาชีพ โดยครั้งแรกจะให้ลงทุนด้วยจำนวนเงินไม่มาก และถอนเงินออกได้ จนกระทั่งมีเงินลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อทำเรื่องถอนเงินจะถอนไม่ได้ โดยอ้างข้อผิดพลาด และไม่คืนเงินให้ผู้เสียหาย
วิธีสังเกต คือ
มิจฉาชีพโฆษณารับสมัครงานทางเฟซบุ๊กโดยมีเงื่อนไขง่าย รายได้ดี เพื่อจูงใจ , เมื่อผู้เสียหายกดลิงก์เพิ่มเพื่อนไลน์ มิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อให้ทำ ภารกิจลงทุนในเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา โดยนำโลโก้บริษัทโบรกเกอร์ Liberater มาใช้, บัญชีธนาคารที่ใช้โอนเงินเป็นชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา ไม่ใช่บัญชีหน่วยงานหรือองค์กร ,เว็บไซต์ของปลอมคือ https://fhwbziuvdrldd.com/account/register แต่เว็บไซต์ ของจริงคือ https://www.liberater.co.th
วิธีป้องกัน
เนื่องจากมิจฉาชีพโฆษณาชักทางทาง Facebook จึงต้องตรวจสอบกฎเหล็ก Facebook ดังนี้
1. ตรวจสอบว่าเป็นบัญชีทางการ หรือไม่หากเป็นของปลอมมักไม่ใช่บัญชีทางการและไม่มีเครื่องหมาย แสดง
2. ตรวจสอบการกดอิโมชันแสดงอารมณ์ หากเป็นของจริงจะมีการกดอิโมชันแสดงอารมณ์ด้านบวก หากเป็นของปลอมจะมีการกดอิโมชันแสดงอารมณ์ด้านลบ (โกรธ)
3. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ
- ประวัติการสร้างเพจ : ของจริงจะสร้างเพจมานาน แต่ของปลอมมักสร้างเพจมาไม่นาน
- ประวัติการเปลี่ยนชื่อ : ของปลอมมักเปลี่ยนชื่อเพจบ่อยเพื่อหลอกไปเรื่อยๆ
- คนจัดการเพจ : ของจริงที่อยู่ของคนจัดการเพจมักอยู่ในประเทศที่สอดคล้องกับเพจ เช่น เพจของคนไทย คันจัดการเพจส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย แต่ของปลอมคนจัดการเพจมักมีที่อยู่ต่างประเทศ หรืออยู่หลายประเทศ
- ในข้อมูลเพิ่มเติมของเพจ(about) : ของปลอมมักสร้างยอดการกดถูกใจและผู้ติดตามใน about เพื่อให้เข้าใจผิดว่ามีการกดถูกใจและผู้ติดตามจำนวนมาก
- มิจฉาชีพให้ทำภารกิจในเว็บไซต์ปลอม จึงไม่ควรกดลิงก์ดาวน์โหลดเว็บไซต์ที่มิจฉาชีพส่ง
มาให้ หากต้องการลงทุนควรเข้าเว็บไซต์ https://www.liberater.co.th
- หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชัน liberater ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store
หรือ Apple Apps Store เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิงก์หรือข้อความที่มีคนส่งให้
- ควรลงทุนในบริษัทหรือผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดย
ตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://www.set.or.th
2. สมัครทำงานพิเศษ แต่ต้องเสียเงินค่าทำสัญญา ค่าบัตร ค่าประกันสินค้า
มิจฉาชีพจะเปิดเพจเฟซบุ๊กปลอมโดยนำโลโก้กรมการจัดหางานมาประกอบการโฆษณารับสมัครพนักงาน โดยได้ค่าตอบแทนสูง ตามแพคเกจ บางกรณีหลอกจัดเตรียมสินค้าหรือแพคสินค้า เมื่อมีผู้เสียหายหลงเชื่อทักแชทสนทนา มิจฉาชีพคนที่ 1 ให้เพิ่มเพื่อนไลน์มิจฉาชีพคนที่ 2 เพื่อแจ้งรายละเอียดการทำงาน มิจฉาชีพคนที่ 2 ให้ทำสัญญาเป็นเงิน,ค่าบัตรพนักงาน และค่าประกันสินค้า โดยจะคืนเงินทั้งหมดเมื่อทำภารกิจสำเร็จ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้ไปแล้ว จะอ้างเรื่องต่างๆ เพื่อให้ผู้เสียหายโอนเงินเพิ่ม สุดท้ายปิดกั้นผู้เสียหายหรือปิดเพจหนีไป
จุดสังเกต
- มิจฉาชีพโฆษณารับสมัครงานทางเฟซบุ๊ก โดยมีเงื่อนไขง่าย รายได้ดี เพื่อจูงใจ
- เมื่อผู้เสียหายกดลิงก์เพิ่มเพื่อนไลน์ มิจฉาชีพจะส่งแพคเกจที่มีโลโก้กรมการจัดหางานมาประกอบการหลอกลวงเพื่อให้น่าเชื่อถือ จากนั้นจะอ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อให้ทำภารกิจ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายก่อนการทำงาน
- บัญชีธนาคารที่ใช้โอนเงินเป็นชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา ไม่ใช่บัญชีหน่วยงานหรือองค์กร
วิธีป้องกัน
- มิจฉาชีพโฆษณาชักชวนทางเฟซบุ๊ก จึงควรตรวจสอบกฎเหล็กของทางเฟซบุ๊ก ดังนี้
1.ตรวจสอบว่าเป็นบัญชีทางการ หรือไม่ เนื่องจากของปลอมมักไม่ใช่บัญชีทางการและไม่มีเครื่องหมาย แสดง
2.ตรวจสอบการกดอิโมชันแสดงอารมณ์ หากเป็นของจริงจะมีการกดอิโมชัน แสดงอารมณ์ด้านบวก หากเป็นของปลอมจะมีการกดอิโมชันแสดงอารมณ์ด้านลบ (โกรธ)
3.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ
- ประวัติการสร้างเพจ : ของจริงจะสร้างเพจมานาน แต่ของปลอมมักสร้างเพจมาไม่นาน
- ประวัติการเปลี่ยนชื่อ : ของปลอมมักเปลี่ยนชื่อเพจบ่อยเพื่อหลอกไปเรื่อยๆ
- คนจัดการเพจ : ของจริงที่อยู่ของคนจัดการเพจมักอยู่ในประเทศที่สอดคล้องกับเพจ เช่น เพจของคนไทย คันจัดการเพจส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย แต่ของปลอมคนจัดการเพจมักมีที่อยู่ต่างประเทศ หรืออยู่หลายประเทศ
- ในข้อมูลเพิ่มเติมของเพจ(about) : ของปลอมมักสร้างยอดการกดถูกใจและผู้ติดตามใน about เพื่อให้เข้าใจผิดว่ามีการกดถูกใจและผู้ติดตามจำนวนมาก
หากต้องการทำงานให้เข้าเว็บไซต์ https://www.doe.go.th หรือทางแอปพลิเคชัน “ไทยมีงานทำ”กรณีมีข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามกรมการจัดหางาน หรือโทรสายด่วน 1506 กด 2 และหากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชัน “ไทยมีงานทำ” ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play Store หรือ Apple Apps Store เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิงก์หรือข้อความที่มีคนส่งให้