ข่าว

'ติดคุกนอกเรือนจำ' คืออะไร เปิดระเบียบใหม่ การกักกัน นักโทษ

'ติดคุกนอกเรือนจำ' คืออะไร เปิดระเบียบใหม่ การกักกัน นักโทษ

11 ธ.ค. 2566

'ติดคุกนอกเรือนจำ' คืออะไร กรมราชทัณฑ์ เปิดเงื่อนไข ปรับเกณฑ์ใหม่ การกักกัน นักโทษ รักษาราราชการ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ออกหนังสือเวียน แจ้ง ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ปฏิบัติตามระเบียบใหม่

“ติดคุกนอกเรือนจำ” มีเงื่อนไขอย่างไร หลังจาก “ราชกิจจานุเบกษา” ออกประกาศ ระเบียบราชทัณฑ์ต่อผู้คุมขังใหม่ โดยเปิดช่องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ชี้ขาด ย้ายผู้ถูกคุมขังนอกเรือนจำ ทำให้เกิดประเด็นดราม่า เกี่ยวกับสาระสำคัญ และผลบังคับใช้ของระเบียบ

 

 

 

โดยเฉพาะในประเด็นดราม่าว่า เป็นการเอื้อต่อ “ทักษิณ ชินวัตร” หรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวเคยระบุว่า จะกลับมายังประเทศไทยในเดือน ก.ค. และพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน ถึงอำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์

 

เปิดระเบียบกรมราชทัณฑ์

 

นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษก ประจำกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ.2566 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 เพื่อกำหนดขั้นตอนและวิธีการดูแลสวัสดิภาพ ของ ”ผู้ถูกกักกัน” ตามกฎหมาย

 

 

 

 

มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ใช้วิธีการกักกันกับผู้ที่เคยถูกศาลพิพากษาให้จำคุก หรือกักกันมาแล้ว และศาลเห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ซึ่งหากผู้นั้นยังมีโทษจำคุก หรือกักขังที่จะต้องรับอยู่ ก็ให้จำคุก หรือกักขังเสียก่อน และให้นับวันถัดจากวันที่พ้นโทษจำคุก หรือพ้นจากการกักขังเป็นวันเริ่มกักกัน

 

ดังนั้น “การกักกัน” จึงมิใช่การ “จำคุกนอกเรือนจำ” แต่อย่างใด แต่เป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัย ที่ศาลอาจมีคำพิพากษาเพิ่มเติมจากโทษทางอาญาที่ลงแก่จำเลย ส่วน “ผู้ต้องขัง” ซึ่งเป็นผู้ต้องโทษจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล จะต้องถูกควบคุมตัวไว้ในเรือนจำ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ มีผู้ถูกกักกันอยู่ในความดูแล จำนวน 57 ราย (ชาย 51 ราย หญิง 6 ราย) และจากสถิติที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้ถูกกักกันเป็นบุคคลจรจัด ไร้บ้าน ทำความผิดซ้ำในคดีลักทรัพย์

 

 

 

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2566 กำหนดให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในการบังคับตามคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือคำสั่งคุมขังฉุกเฉินตามที่ศาลกำหนด โดยให้นำ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2510 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

 

 

ด้วยเหตุนี้ กรมราชทัณฑ์จึงจำเป็นต้องประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566 เพื่อให้มีมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพของผู้ถูกกักกัน และบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือคำสั่งคุมขังฉุกเฉินให้เกิดความเหมาะสมและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

 

 

ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “สถานกักกัน” หมายความว่า สถานกักกัน หรือเขตกักกัน ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด สำหรับควบคุมผู้ถูกกักกัน

 

เนื้อหาที่น่าสนใจระเบียบราชทัณฑ์ใหม่

 

  • ข้อ 36 ผู้ถูกกักกัน มีสิทธิยื่นคำร้องทุกข์หรือเรื่องราวใดๆ ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการสถานกักกัน อธิบดี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ต่อพระมหากษัตริย์ การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสถานที่ที่สถานกักกันจัดไว้เพื่อดำเนินการจัดส่งไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่ผู้ถูกกักกันประสงค์ก็ได้
  • ข้อ 37 ผู้ถูกกักกันจะยื่นคำร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือโดยทำเป็นหนังสือก็ได้ ถ้ากระทำด้วยวาจา ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งรับคำร้องทุกข์เป็นผู้บันทึกคำร้องทุกข์ ในบันทึกคำร้องทุกข์หรือหนังสือร้องทุกข์นั้น ต้องลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรับคำร้องทุกข์ด้วย

ระเบียบราชทัณฑ์ ติดคุกนอกเรือนจำ

 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 กรมราชทัณฑ์ ลงนามโดย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ส่งหนังสือเวียน ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ว่าด้วยระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ระบุว่า

 

 

ด้วยกรมราชทัณฑ์ ได้ประกาศใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง ในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยสาระสำคัญของระเบียบนี้ เป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิไช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภทและการอื่น ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 รายละเอียดปรากฎตามระเบียบกรมราชทัณท์ที่ส่งมาพร้อมนี้