ข่าว

ทำลาย 'หมูเถื่อน' 159 ตู้คอนเทนเนอร์ 4.31 ล้าน กก. ไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน

ทำลาย 'หมูเถื่อน' 159 ตู้คอนเทนเนอร์ 4.31 ล้าน กก. ไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน

14 มิ.ย. 2566

"กรมศุลกากร" อนุมัติกรมปศุสัตว์ทำลาย "หมูเถื่อน" จำนวน 159 ตู้ น้ำหนักรวม 4,313,850 กิโลกรัม จากที่ได้ตรวจยึดซากสุกรแช่แข็งตกค้าง ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากร ได้ตรวจยึดซากสุกรแช่แข็งตกค้าง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 161 ตู้

 

จากการตรวจสอบพบซากสัตว์ที่ยึดได้ทั้งหมด มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศและไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจน ประกอบกับไม่มีเอกสารรับรองการฆ่าสัตว์หรือสุขศาสตร์ของสัตวแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือพาหะของโรคระบาดสัตว์ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศได้

 

 

กรมศุลกากร ทำลายหมูเถื่อน

 

 

โดยกรมศุลกากรได้อายัดตู้ทั้งหมดและได้ดำเนินการจนคดีถึงที่สุดแล้ว  จำนวน 159 ตู้ น้ำหนักรวม 4,313,850 กิโลกรัม และมีหนังสือส่งมอบให้ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อทำลายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกอบระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่นำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2563

 

 

กรมศุลกากร ทำลายเนื้อหมูเถื่อน

 

 

ทั้งนี้ อีก 2 ตู้ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงไม่สามารถส่งมอบเพื่อไปทำลายได้

 

ที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ยื่นหนังสือให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก) ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดรวมถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะนิติบุคคลและในฐานะส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในความผิดนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

 

 

กรมศุลกากร ทำลายเนื้อหมูเถื่อน

 

 

และยังได้เพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทสุกรมีชีวิต เนื้อสุกร และเครื่องในสุกร โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสุกรหรือชิ้นส่วนสุกรที่ผิดกฎหมายและการบริหารจัดการของกลาง ซึ่งประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อเป็นการป้องกันให้ปลอดจากโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นต่อไป