รวบสาวแก๊ง 'Romance Scam' ลวงเหยื่อให้รัก ก่อนหลอกโอนเงินสูญ 36 ล้าน
"ตำรวจไซเบอร์" จับสาวเครือข่าย "โรแมนซ์สแกม Romance Scam" หลอกผู้เสียหายหลงรัก หลงเชื่อ ก่อนกล่อมให้โอนเงิน กว่าเหยื่อจะรู้ตัวสูญเงินกว่า 36 ล้านบาท
17 มิ.ย. 2566 มิจฉาชีพในโลกออนไลนหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ ก่อนให้โอนเงิน ที่มาในรูปแบบการหลอกให้รัก หรือ Romance Scam ยังคงมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจำนวนไม่น้อย บางรายต้องสูญเงินไปจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เร่งในการสืบสวนติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายไ
ล่าสุด ตำรวจไซเบอร์ สืบทราบว่ามีคนร้ายใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ "Helen" ใช้ภาพโปรไฟล์เป็นรูปหญิงสวยชาวยุโรป ส่งข้อความมาหาผู้เสียหาย และพูดคุยจนสนิทกันโดยสร้างเรื่องหลอกลวงผู้เสียหายว่ามีความต้องการที่จะมาอยู่กินกันด้วยที่ประเทศไทย แต่ขอให้ผู้เสียหายรับพัสดุที่ตนจะส่งมายังประเทศไทยไว้ก่อน
จากนั้นมีผู้ใช้ไลน์ "Fast Move Cargo" หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร แจ้งว่าถ้ารับพัสดุจะต้องมีใช้จ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินหลายครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 36 ล้านบาท ผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงเดินทางไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน
ต่อมาศาลอนุมัติหมายจับ 1 ในผู้ร่วมขบวนการ คือ น.ส.สุดาทิพย์ (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับ ศาลอาญาตลิ่งชัน และสามารถติดตามจับกุมตัว ผู้ต้องหา คือ น.ส.สุดาทิพย์ อายุ 39 ปี ได้บริเวณหน้าบ้าน ภายใน ซ.ปริยานนท์ ต.บางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ
โดยแจ้งว่ากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงเป็นคนอื่น, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" จึงนำตัวผู้ต้องหาส่งดำเนินคดี
.
Romance Scam หรือการหลอกให้หลงรัก หลอกให้เชื่อว่ารัก หลอกให้เชื่อใจ ให้ความหวังว่าจะแต่งงาน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอดไป และใช้ความรักความเชื่อใจหรือความหวังของเหยื่อเพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยหลอกให้โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ไปให้ หลอกให้กระทำผิดบางอย่าง เช่น ขนส่งยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย ปลอมแปลงเอกสาร เมื่อเหยื่อเริ่มรู้ตัว คนร้ายก็จะหนีหาย ทิ้งให้เหยื่อเสียทั้งเงินและเสียทั้งใจ
โดยคนร้ายที่เข้ามาหลอกลวงเหยื่อนั้น มักจะใช้รูปภาพของบุคคลอื่นที่ดูดี หล่อ สวย น่าเชื่อถือ มักใช้ภาพที่มีการแต่งกายดูดี ภูมิฐาน หรือภาพคนในเครื่องแบบ เช่น ทหาร แพทย์ นักธุรกิจ วิศวกร มีสถานะในโลกออนไลน์เป็นคนโสด หรืออาจเคยแต่งงานมาแล้วแต่ภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้างกับภรรยาแล้ว
คนร้ายอาจจะแอบอ้างเป็นบุคคลในรูป ใช้ข้อมูลของบุคคลจริงในรูป หรืออาจจะสร้างตัวตนใหม่โดยใช้รูปคนอื่นแต่งเรื่องราวให้ดูน่าเชื่อถือ เพื่อให้เหยื่อเชื่อใจจากภาพลักษณ์ที่เห็น คนร้ายจะแฝงตัวอยู่ในสังคมออนไลน์ทั่วไป ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันหาคู่ต่างๆ และอาจติดต่อพูดคุยกับเหยื่อได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทางอีเมล เฟซบุ๊ก ไลน์ เมสเซนเจอร์ ฯลฯ