ข่าว

ศาล 'ยกฟ้อง' คดีม็อบ 'ขวางขบวนเสด็จฯ' เหตุไม่มีการแจ้ง ปชช.ให้ทราบเส้นทาง

ศาล 'ยกฟ้อง' คดีม็อบ 'ขวางขบวนเสด็จฯ' เหตุไม่มีการแจ้ง ปชช.ให้ทราบเส้นทาง

28 มิ.ย. 2566

ศาลอาญา พิพากษายกฟ้อง เอกชัย กับผู้ชุมนุม มั่วสุม "ขัดขวางขบวนเสด็จฯ" เหตุเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าเป็นเส้นทางเสด็จฯ และ พฤติการณ์ของจำเลยยังไม่เป็นเป็นการแสดงความประทุษร้าย

28 มิ.ย. 2566 ที่ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายเอกชัย หงส์กังวาล  นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กับพวก พร้อมทนาย ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในคดีขัดขวางขบวนเสด็จฯ พระราชินี หมายเลขดำ อ.778/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายเอกชัย หงส์กังวาล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง,นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง,  นายสุรนาถ  แป้นประเสริฐ, นายชนาธิป ชัยยะยางกูร และนายภาณุภัทร ไผ่เกาะ  ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐาน "แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบัน และ ผิดพ.ร.บ.จราจรทางบก 

 

 

 

 

กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวรอนุสาวรีย์ปชต. วันที่ 14 ต.ค. 2563

 

 

โดยอัยการยื่นฟ้องสรุปว่า  เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 จำเลยทั้ง 5 คน กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  โดยพวกจำเลยทั้ง 5 กับพวก จำนวนหลายร้อยคนได้ลงมายืนบนพื้นผิวจราจรบนถนนพิษณุโลก ลักษณะกีดขวางการจราจร ซึ่งได้กำหนดใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมราชินี  และพระบรมศานุวงศ์ เพื่อไปทรงบำเพ็ญกุศล ถวายผ้าพระกฐินประจำปี 2563 ณ.วัดราชโอรสาราม

 

ซึ่งมีรถยนต์ของ บก.จร. และรถยนต์ในขบวนเสด็จฯ ขับเบิกทาง  โดยจำเลยกับพวก ซึ่งมาร่วมกิจกรรมชุมนุม "เพราะเราทุกคนคือคณะราษฎร และคณะราษฎรยังไม่ตาย" ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้บังอาจร่วมกันประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระบรมราชินี  โดยช่วยกันใช้กำลังผลักดันแถวแนวหน้าเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน หรือ (คฝ.) เพื่อขัดขวางมิให้ขบวนเสด็จสามารถเคลื่อนผ่านไปยังเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ไปแยกนางเลิ้งได้ อีกทั้งยังได้ชูสัญญลักษณ์สามนิ้วใส่ขบวนเสด็จฯ อีกด้วย

 

 

  2 จำเลยคดีขวางขบวนเสด็จฯ ให้สัมภาษณ์ ก่อนมีคำพิพากษา

 

 

นายเอกชัย  และนายบุญเกื้อหนุนได้ให้สัมภาษณ์ ก่อนขึ้นไปฟังศาลพิพากษาว่า คดีนี้มีข้อมีพิรุธหลายอย่าง เพราะปกติแล้วขบวนเสด็จฯ ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกให้ รวมไปถึงต้องมีการแจ้งล่วงหน้าหากมีขบวนเสด็จฯ แต่วันนั้นกลับไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทั้งสื่อมวลชน ตำรวจ และผู้ชุมนุมก็ไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าวันนั้นจะมีขบวนเสด็จฯ จึงเชื่อมั่นว่าเป็นความบกพร่องของตำรวจ และคิดว่าศาลจะเข้าใจพวกตน 

 

ต่อมา ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า ในพื้นที่ดังกล่าวที่จะมีขบวนเสด็จฯ ไม่มีการประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนให้ทราบล่วงหน้าว่าเป็นเส้นทางเสด็จฯ เเละพฤติการณ์ของจำเลยที่ปรากฎยังไม่เป็นเป็นการแสดงความประทุษร้าย  พิพากษายกฟ้องจำเลยกับพวกทุกข้อหา